วัดหัวหนอง


ประวัติความเป็นมา
อนุมานจากหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณวัด ที่มีจำนวนมากแห่ง และมีรูปแบบแผนผังการก่อสร้างที่สลับซับซ้อนหลายกลุ่มดังกล่าว พิจารณาได้ว่าวัดหัวหนองแห่งนี้ เดิมต้องเป็นวัดที่มีลำดับความสำคัญต้นๆ ของเวียงกุมกามในอดีตอย่างไม่ต้องสงสัย การทำโขงประตูวัดบริเวณท่าน้ำแม่ปิง ที่มีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างสวยงามตามชั้นในส่วนย่อเก็จย่อมุมต่างๆ ก็ดี การมีร่องรอยก่อสร้างทับซ้อน กรณีเจดีย์ช้างรอบที่มีเจดีย์สมัยหลังสร้างทับซ้อน นอกเหนือไปจากหลักฐานโบราณวัตถุ ที่พบจากการขุดแต่งศึกษาในระยะที่ผ่านมา ทั้งเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่เป็นศิลปะล้านนา-พะเยา เศียรพระพุทธรูปสำริดอิทธิพลศิลปะสุโขทัย เศียรพระพุทธรูปสำริดศิลปะเชียงแสน เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นและชิ้นส่วนพระพุทธรูปอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงภาชนะดินเผาประเภทน้ำต้น (คนโฑ) แบบหริภุญไชย เครื่องถ้วยลายคราม ของจีน และจารึกอักษรล้านนา (ตั๋วเมือง) บนแผ่นอิฐ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความสำคัญในอดีตของวัดหัวหนองได้โดยแท้

สิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานในเขตวัดหัวหนองแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ที่แต่ละกลุ่มมีสิ่งก่อสร้างที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

  • กลุ่มที่หนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของวัด ประกอบด้วย เจดีย์ช้างล้อม วิหาร และเจดีย์เล็กด้านข้างวิหาร
  • กลุ่มที่สอง ตั้งอยู่ระหว่างโบราณสถานกลุ่มแรกกับแนวแม่น้ำปิง ประกอบด้วย วิหารและมณฑป
  • กลุ่มที่สาม เป็นโขงประตูวัดและแนวกำแพงวัดที่อยู่ใกล้ชิดลำน้ำแม่ปิงสายเดิม
  • กลุ่มที่สี่ อยู่ด้านหลังทิศใต้โขงประตูวัด ประกอบด้วยกำแพงแก้ว ซากอาคาร บ่อน้ำ
  • กลุ่มที่ห้าอยู่ทางด้านตะวันออกของกลุ่มที่สี่ ประกอบด้วย แนวกำแพงแก้วพร้อมร่องรอยโขงประตู เจดีย์ วิหาร อุโบสถ และอาคารด้านหน้าซากพระวิหาร ซึ่งเข้าใจว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมเพิ่มเติมกันหลายสมัย

ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น
สิ่งก่อสร้างที่จัดได้ว่าเด่นที่สุด 2 แห่งของวัดหัวหนอง คือโขงประตูกำแพงวัด และเจดีย์ช้างล้อม ซึ่งโขงประตูวัดนั้น เป็นช่องทางเข้าออกวัดสร้างก่ออิฐฉาบปูนมีส่วนฐานและห้องลักษณะย่อเก็จขึ้นไปรับส่วนเครื่องยอดหลังคา ตกแต่งลายปูนปั้นในส่วนต่างๆ มีลักษณะร่วมกับวัดในเขตแคว้นล้านนาหลายๆ แห่ง เช่นเดียวกับโขงประตูวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดสวนดอก วัด 7 ยอด ซึ่งสามารถกำหนดอายุได้ในช่วงเวลาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนเจดีย์ช้างล้อมนั้น เป็นลักษณะร่วมกันกับศิลปะสถาปัตยกรรมลังกา ที่รับผ่านเข้ามาทางแคว้นสุโขทัยในระยะต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งการพบหลักฐานเจดีย์สร้างครอบทับกันเช่นเจดีย์ช้างล้อมองค์นี้ น่าจะเป็นการทำในสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1954-1985) เป็นต้นมา เพราะล้านนามีสำนักสงฆ์กลุ่มใหม่ (สายวัดป่าแดง) ที่ขัดแย้งกับสำนักสงฆ์กลุ่มเดิม (สายวัดสวนดอก)

https://culture.mome.co/wathuanong/

กิจกรรมในเชียงใหม่