วัดธาตุขาว

ที่ตั้ง
อยู่ทางทิศใต้วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ในเส้นทางผ่านทางเข้าวัดพญามังราย-พระเจ้าองค์ดำมาทางใต้ ในเขตพื้นที่ทางด้านตะวันตกของเวียงกุมกาม สภาพปัจจุบันเป็นวัดร้าง และขึ้นบัญชีเป็นวัดร้างของกรมการศาสนา สภาพแวดล้อมทั่วไปแวดล้อมด้วยสวนลำไยของเอกชน มีถนนบุญรักษ์สายใหม่ตัดผ่านด้านหน้าวัด วัดที่ตั้งอยู่เขตใกล้เคียงคือวัดพญามังราย(ร้าง)-พระเจ้าองค์ดำ(ร้าง) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และวัดปู่เปี้ย(ร้าง)ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

ประวัติความสำคัญ
จากหลักฐานด้านเอกสาร ไม่ปรากฏการกล่าวอ้างอิงถึงประวัติของวัดนี้ว่าก่อสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เข้าใจว่าสภาพความเป็นวัดคงเกิดขึ้นแล้วในสมัยเวียงกุมกาม และดำรงอยู่ร่วมสมัยล้านนาเรื่อยมา ที่เรียกกันว่าวัดธาตุขาว ก็เนื่องมาจากแต่เดิมเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาว (ธาตุ หรือ กู่ เป็นคำเรียกขานในท้องถิ่นล้านนา หมายถึง เจดีย์) ลักษณะพิเศษทางด้านการก่อสร้าง พบการทำ(ฐาน)มณฑปหรือแท่นแก้วชุกชี ที่สร้างอยู่ตรงกลางอาคารใกล้เคียงทางด้านใต้พระเจดีย์

ผังรูปแบบการก่อสร้างวัด และลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม
วัดสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างที่ขุดแต่งพบในบริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่ตอนหลังพระวิหาร อาคารวิหารเล็ก และอุโบสถ ที่สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใกล้กับเจดีย์ประธานทางด้านใต้ เจดีย์ประธานสร้างก่ออิฐสอดินฉาบผิวด้วยปูนขาว จากรูปแบบสภาพปัจจุบันที่คงเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงเตี้ยตอนล่าง และชั้นปัทม์ย่อเก็จ ๒ ฐานซ้อนกันพิจารณาว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง วิหาร สภาพคงเหลือหลักฐานเพียงส่วนฐานก่ออิฐสอดิน เช่นเดียวกัน ลักษณะเดิมเมื่อพิจารณาจากตำแหน่ง และร่องรอยโครงสร้างเสาแล้ว เป็นวิหารที่มีหลังคาทรงหน้าจั่วเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา และเนื่องจากการขุดแต่งไม่พบหลักฐานการก่อเรียงอิฐในส่วนผนัง ทำให้เข้าใจว่าเป็นวิหารแบบโถง องค์พระประธานพังทลายไม่เหลือหลักฐาน ที่คงเหลือร่องรอยเฉพาะแท่นฐานชุกชี วิหารเล็ก ด้านใต้มีแท่นฐานชุกชีหรือโขงพระเจ้าตั้งอยู่กลางห้อง อุโบสถ ปรากฏหลักฐานเพียงส่วนกรอบฐานก่ออิฐในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างยกพื้นเตี้ย โดยรอบพบก้อนหินธรรมชาติตั้งวางไว้แสดงขอบเขตพัทธสีมา

จากการขุดแต่งวัดนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้พบองค์พระพุทธรูปปูนปั้น ที่แต่เดิมเคยตั้งประดิษฐานบนอาคารวิหารเล็ก แต่ได้ล้มตกหงายพระองค์ลงมาที่ขอบฐานด้านหลัง มีส่วนขององค์พระยังค่อนข้างสมบูรณ์แต่พระเศียรชำรุด ระยะต่อมาชาวบ้านได้หาช่างมาปั้นแต่งเสริมใหม่ให้มีลักษณะพื้นเมือง ดังเช่นในปัจจุบัน และในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีผู้พบพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็กรูปแบบศิลปะอินเดีย ที่มีร่องรอยเดือยแกนด้านหลังสำหรับติดกับวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างอื่น ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยแบบมีวงโค้งประภามณฑล ด้านหลังมีจารึกรูปแบบอักษรอินเดีย ที่เป็นข้อความคาถาหัวใจพุทธศาสนา (เย ธมฺมา)

ที่มา wiangkumkam.com

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่