ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม
- 142/2 หมู่ 2 ถนนเวียงกุมกาม ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50000
- 053-140-322
-
- เปิดทุกวัน 08:30-16:30
- https://www.facebook.com/WiangkumkamInformationCen...
- #เวียงกุมกาม #ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม
-
ตำแหน่งจีพีเอส : 18.7445474, 98.9943682 (เปิดแผนที่บน Google Map) | เปิดพิกัดปัจจุบัน
โบราณสถานเวียงกุมกามถูกค้นพบในพื้นที่บริเวณที่อยู่ระหว่างแม่น้ำปิงสายเก่าและสายใหม่ โดยตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร เวียงกุมกามเคยเป็นเมืองเก่าที่มีความรุ่งเรือง มีพื้นที่กว้างถึง 3 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ของตำบลท่าวังตาล และตำบลหนองผึ้งในเขตอำเภอสารภี รวมถึงตำบลป่าแดด และตำบลหนองหอย ในเขตอำเภอเมือง
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเวียงกุมกาม ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับราชวงศ์กษัตริย์ ตำนานเมือง โบราณวัตถุ และซากปรักหักพังของเมือง ส่วนหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีนั้นบ่งบอกว่ามีชุมชนโบราณตั้งอยู่ในเขตเวียงกุมกามตั้งแต่ก่อนสมัยอาณาจักรล้านนา (พุทธศตวรรษที่ 19) หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบที่วัดช้างค้ำ เช่น จารึก พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่อยู่ในสมัยหริภุญไชย และล้านนา แสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนชายขอบในสมัยหริภุญไชย และมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยล้านนา
หลังจากพญามังรายได้สถาปนาตนขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของล้านนา พญามังรายได้ขยายขอบเขตของอาณาจักร โดยการยึดเมืองหริภุญไชยในปี พ.ศ. 1824 หลังจากนั้นทรงก่อตั้งเวียงกุมกามในระหว่างปี พ.ศ. 1829 – 1838 เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครอง ในระหว่างที่ทรงปกครองเวียงกุมกาม ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข นอกเหนือจากนั้น พญามังรายยังทรงติดต่อค้าขายกับแคว้นเพื่อนบ้าน และบัญญัติกฎหมาย ‘มังรายศาสตร์’ ขึ้นเพื่อเป็นแบบแผนในการปกครอง ดังนั้นประชาชนในเวียงกุมกามจึงเริ่มอยู่ดีมีสุข และประสบความสำเร็จในด้านการเพาะปลูก ต่อมา ชาวเมืองจึงริเริ่มค้าขายกับชุมชนอื่นๆ และเริ่มก่อสร้างวัด เพื่อแสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนา
ในปี พ.ศ. 1839 พญามังรายก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ยังคงรักษาเวียงกุมกามไว้ เป็นอีกเมืองที่มีบทบาทสำคัญ ศิลาจารึกหลายชิ้นได้กล่าวถึงเสียงกุมกามว่าเป็นเมืองสำคัญที่เคยมีประชากรเทียบเท่ากับเชียงใหม่
ความรุ่งเรืองของเวียงกุมกามสืบทอดต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงช่วงที่แม่น้ำปิงเปลี่ยนสาย อย่างไรก็ตาม หลักฐานจากการขุดค้นของสำนักศิลปากรที่ 8 ได้บ่งชี้ว่า การล่มสลายของเวียงกุมกามไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันจากน้ำท่วม แต่เกิดขึ้นเพราะภาวะสงครามกับพม่า ซึ่งทำให้ประชาชนถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลยศึก เวียงกุมกามจึงรกร้าง กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ในที่สุด น้ำท่วมและกระแสน้ำของแม่น้ำปิงก็ได้นำเอาดินตะกอนมาทับถมเวียงกุมกามจนกลายเป็นนครโบราณใต้พิภพ ฝังลึกในระดับ 1-2 เมตรจากพื้นผิวดิน
พื้นที่นครโบราณเวียงกุมกาม ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ได้ทำสวนลำไย และไม่ได้ตระหนักว่ามีโบราณสถานอยู่ใต้ผืนดินแห่งนี้ โบราณสถานในเขตเวียงกุมกามเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ อย่างไรก็ตามกรมศิลปากรได้ค้นพบซากโบราณสถานกว่า 42 แห่งทั้งในและนอกเขตเวียงกุมกาม บางแห่งได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว
ที่มา wiangkumkam.com