วัดกานโถม (ช้างค้ำ)

ประวัติความสำคัญ
ปัจจุบันเชื่อกันว่า วัดช้างค้ำนี้เป็นวัดๆเดียวกับวัดกานโถม ตามที่ได้กล่าวถึงในเอกสารประเภทตำนาน-พงศาวดาร และเรื่องเล่าขานในท้องถิ่น ก่อสร้างในระยะที่พญามังรายประทับและปกครองแคว้นล้านนาอยู่ที่เวียงกุมกาม โดยโปรดให้นายช่างประจำราชสำนักที่ชื่อกานโถม ไปปรุงเครื่องไม้จากเมืองเชียงแสน เพื่อให้มาสร้างวิหารไว้ที่วัดแห่งนี้ แม้ว่าได้พบจารึกที่ปรากฏชื่อวัดกานโถมหลายชิ้น ซึ่งทางวัดได้เคยเก็บรวบรวมไว้ (ปัจจุบันกระจายตัวไปอยู่ในที่ต่างๆ) ก็ไม่แน่ว่าเป็นของที่ได้ขุดพบในเขตวัดนี้ เพราะบางทีอาจมีผู้นำมาจากที่ต่างๆในเขตเวียงกุมกาม หรือที่อื่นๆก็เป็นได้ แต่หลักฐานสิ่งก่อสร้างฐานอาคารวิหาร-เจดีย์ ที่พบฝังตัวอยู่ใต้ดิน (สนามโรงเรียนวัดช้างค้ำเดิม) และกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินงานขุดแต่ง-บูรณะในปี พ.ศ.๒๕๒๗ นั้น สามารถยืนยันถึงความเก่าแก่ของชุมชนในเขตพื้นที่นี้ ว่าอยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับชุมชนเมือง/แคว้นหริภุญไชย จากหลักฐานพระพิมพ์ ภาชนะดินเผา จารึกอักษรมอญ ฯลฯ อีกทั้งลักษณะรูปแบบพิเศษของการสร้างวิหารให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก อันแตกต่างจากรูปแบบการก่อสร้างของวัดอื่นๆในเขตเวียงกุมกาม ที่ส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคติการก่อสร้างเดิม และวัดที่สร้างให้หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าสู่แม่น้ำปิง ที่เคยไหลผ่านในแนวทิศเหนือตัวเวียง ซึ่งในชั้นนี้พิจารณาว่า น่าจะเป็นวัดที่สร้างหรือซ่อมบูรณะในระยะหลัง

ที่ตั้ง
ปัจจุบันเป็นวัดในเขตศูนย์กลางของเวียงกุมกาม และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา  สภาพแวดล้อมทั่วไปทางทิศเหนือ ตะวันตก และใต้ เป็นเขตบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชุมชนอย่างค่อนข้างหนาแน่น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นเขตที่ลุ่มต่ำทำนามาแต่เดิม ที่ปัจจุบันพบว่าเริ่มพบการเข้าไปก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และมีโครงการก่อสร้างบ้านและที่ดินจัดสรร

ผังรูปแบบการก่อสร้างวัด
ในบริเวณวัดช้างค้ำอาจแบ่งโบราณสถานของวัดได้ ๒ กลุ่ม ที่พิจารณาว่ามีอายุของการก่อสร้างในระยะต่างกัน ๒ สมัย คือกลุ่มแรกสร้างขึ้นแล้วระยะก่อนสมัยการสร้างเวียงกุมกามของพญามังราย อันเป็นกลุ่มโบราณสถานที่พบพระพิมพ์แบบหริภุญไชย และกรมศิลปากรขุดแต่ง-บูรณะในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งพบการก่อสร้างอาคารซ้อนกัน ๒ รุ่นสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก อีกกลุ่มหนึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นเจดีย์ประธานและวิหารที่ใช้ประโยชน์ของวัดในปัจจุบัน ที่สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พิจารณาว่าน่าจะเป็นรูปแบบของวัดที่สร้างในสมัยเวียงกุมกาม วิเคราะห์ตามจารึกที่กล่าวถึงชื่อวัดกานโถม (พ.ศ.๒๐๔๒) อันเป็นวัดที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลพญามังราย ที่นายช่างกานโถมได้ปรุงเครื่องไม้จากเมืองเชียงแสนมาสร้างวิหาร-วัดกานโถม แต่ทั้งสองกลุ่มนั้นมีรูปแบบการก่อสร้างแบบมีเจดีย์ตั้งอยู่ตอนหลังวิหาร เช่นเดียวกัน  ในส่วน พระอุโบสถ ของวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างโบราณสถานทั้ง ๒ กลุ่มนั้น พิจารณาว่าสร้างหรือซ่อมบูรณะในระยะรัชกาลที่ ๕ หรือราว ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา โดยสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เช่นเดียวกับอุโบสถของวัดศรีบุญเรือง วัดหนองผึ้ง และอีกหลายๆวัดที่ช่างชาวพม่าได้มาซ่อมบูรณะ ยกตัวอย่างในกรณีวัดป่าเป้า-เมืองเชียงใหม่ ที่พบว่าพระวิหารและพระอุโบสถสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม
โบราณสถานกลุ่มแรก ที่ควรสร้างในสมัยก่อนสร้างเวียงกุมกาม คือ วิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานปทักษิณเตี้ย สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตกตามคติการก่อสร้างวัดแบบพม่าดั้งเดิม ที่ได้พบหลักฐานการก่อสร้างในเขตเมืองเชียงใหม่หลายวัดที่สร้างพระวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันตก (เช่นที่วัดป่าเป้าและวัดทรายมูลพม่า)  ซึ่งบางท่านวิเคราะห์ว่าเป็นการสร้างให้หันหน้าไปยังเมืองแม่ แต่ในกรณีของเวียงกุมกามที่วัดช้างค้ำนี้ คงเป็นคติการสร้างที่โบราณกว่ามาก เพราะเหตุที่สร้างต่างยุคสมัยกันมาก นอกจากนี้ได้พบหลักฐานพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชย ที่เป็นพระสามหอม พระคง พระสิบสอง จำนวนมาก (รวมๆประมาณ ๖ ปี๊บจากคำบอกเล่า) ที่ส่วนมากพบฝังไว้โดยรอบส่วนฐานวิหาร-เจดีย์
ส่วนโบราณสถานกลุ่มที่สองนั้น สร้างในระยะสมัยของเวียงกุมกาม หรือระยะหลังมาคือกลุ่มวิหารใหม่และเจดีย์ประธาน ที่สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยเฉพาะในส่วนของเจดีย์ประธาน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆัง ที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยช่างชาวพม่าในสมัยหลัง ประมาณระยะเวลาเดียวกับ การซ่อมบูรณะเจดีย์ประธานของวัดเจดีย์เหลี่ยมที่ได้คงรูปทรงโครงสร้างเดิมที่เป็นเจดีย์ทรงมณฑปไว้ แต่ได้ซ่อมดัดแปลงในส่วนฐานให้มีลักษณะย่อเก็จตื้นแบบพม่า (ได้พบเหรียญสมัยรัชกาลที่ ๕ และเครื่องแก้วสีในกรุที่อยู่ภายในองค์ระฆัง คราวที่องค์เจดีย์ร้าวที่ทางวัดได้ซ่อมปิดทับไว้เหมือนเดิม) รวมถึงการตกแต่งประดับใหม่ด้วยลวดลายในศิลปะพรรณพฤกษาเกี่ยวสอด รูปแบบการทำซุ้มพระ ลักษณะพระพุทธรูป ฯลฯ ส่วนพระวิหารของวัดปัจจุบัน เป็นงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ของวัดในระยะกว่า ๑๕ ปีที่ผ่านมา

ที่มา wiangkumkam.com

เทรนด์
สิงหาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่