วัดช่างแต้ม

ประวัติความเป็นมา วัดช่างแต้ม

วัดช่างแต้ม มีชื่อว่า วัดต้อมแต้มแก้วกว้างท่าช้างพิชัย สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๓ โดยกลุ่มจิตรกร (ภาษาเหนือเรียกว่า ช่างแต้ม) ในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย

ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น วัดช่างแต้ม 

พระวิหาร สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น ช่อฟ้าตกแต่ง นาคสะดุ้ง หน้าบันถูกแบ่งเป็นช่องตามโครงสร้างของอาคาร แบบที่เรียกว่าม้าต่างไหม ในแต่ละช่องมีลวดลายพรรณพฤกษาและดอกไม้ประดับไว้ ประตูทางเข้าเป็นซุ้มโขงล้านนา มีลายปูนปั้นรูปหงส์ และพญานาคสองตนเกี่ยวพันกันเป็นซุ้ม ภายในประดิษฐานหมู่พระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ละองค์มีพระพักตร์ที่ไม่เหมือนกัน ด้านหลังพระประธานมีลายปูนปั้นซุ้มโขง และธรรมจักรสีทองที่สวยงาม ตัดกับพื้นหลังสีแดง เบื้องหน้ามีสัตภัณฑ์ (เชิงเทียน) ที่แกะสลักจากไม้เป็นรูปพญาครุฑ และพญานาคประดับด้วยกระจกหลากสี

เจดีย์ศิลปะล้านนา แต่เดิมส่วนบนเป็นศิลปะพม่าขนานแท้ เนื่องจากเชียงใหม่เคยตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าถึง ๒๔๑ ปี แต่หลังจากที่อำนาจของพม่าหมดไป เจดีย์ในวัดต่างๆ จึงพยายามเปลี่ยนให้กลับมาเป็นแบบล้านนา ฐานด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละมุมมีฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จยกสูงรับกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๖ ชั้นรับกับองค์ระฆังทรงกลมหุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น


ที่มา templeofchiangmai.weebly.com

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่