มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย

          ปี พุทธศักราช 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้าง สถานศึกษาของวิทยาลัยแห่งนี้

ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดมหามกุฎราชวิทยาลัย พระองค์ทรงอุปถัมภ์ด้วยการพระราชทาน พระราชทรัพย์บำรุงประจำปี อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าวนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงทรงตั้งพระวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการของ มหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น 3 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
  2. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ
  3. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

          เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการแล้ว ปรากฏว่าพระวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการนั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา เพื่อที่จะให้พระวัตถุประสงค์ เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขึ้น ครั้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ในฐานะนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วย พระเถรานุเถระ ได้ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” มีจุดมุ่งหมายคือ

  1. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
  2. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิชาทั้งของชาติ และของต่างชาติ
  3. เพื่อให้เป็นสถานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ
  4. เพื่อให้ภิกษุสามเณร มีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
  5. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าโต้ตอบหรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
  6. เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนาและเป็นศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่กาลสมัย
  7. เพื่อความเจริญก้าวหน้าและคงอยู่ตลอดกาลนาน ของพระพุทธศาสนา

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย  วิทยาเขตล้านนา

          เป็นวิทยาเขตลำดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นโดยพระธรรมดิลก (จันทร์  กุสโล) เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี โดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ และคณะศิษย์เก่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งนี้พระธรรมดิลก (ขันติ์  ขนฺติโก) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลาวงวรวิหารในขณะนั้น ได้อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้ใช้วัดเจดีย์หลวงวรวิหารเป็นสถานที่ตั้งและดำเนินกิจการ การเปิดดำเนินการ เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 โดยได้รับความอุปถัมภ์เงินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อขยายการศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยออกสู่ส่วนภูมิภาค
  2. เพื่อจัดการศึกษาให้สนองนโยบายคณะสงฆ์และรัฐบาลไทย
  3. เพื่อบริการการศึกษาและสร้างสรรค์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
  4. เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัย และแหล่งข้อมูลวิชาการทางพระพุทธศาสนาในภาคเหนือ
  5. เพื่อเป็นแหล่งรวมสร้างสรรค์งานวิชาการทางพระพุทธศาสนา ระหว่างผู้รู้ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งให้บริการวิชาการพระพุทธศาสนาแก่ชุมชน
  6. เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศ

สถานที่ตั้ง

เลขที่ 103 วัดเจดีย์หลวง ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ที่มา ประวัติ - (mbu.ac.th)

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่