โบราณสถานเวียงเศรษฐี

สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น อำเภอสารภีเป็นอำเภอหนึ่งที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณสถานและศาสนสถานที่น่าสนใจ อาทิ เช่น เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณที่พญามังรายสร้าง วัดพระนอนป่าเก็ดถี่  และอีกหลากหลายสถานที่ที่น่าสนใจ นอกจากนั้นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวรู้จัก  เช่น  โบราณสถาน วัดเวียงเศรษฐี (ร้าง) เป็นโบราณสถานใกล้เคียงกับยุคเวียงกุมกาม เวียงเศรษฐี หรือ ชาวบ้านเรียกว่า เวียงเจ้าปู่ เป็นเมืองโบราณยุคประวัติศาสตร์ เป็นเมืองหน้าด่านของเวียงกุมกามปรากฏตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่าเป็นที่พระพุทธเจ้าเคยมาโปรดกุมารเศรษฐี แล้วพระองค์ทรงประทาน  พระเกศาธาตุแด่กุมารเศรษฐี  กุมารเศรษฐีจึงได้นำมาสร้างเป็นพระเจดีย์ แต่ปัจจุบันเป็นเวียงร้างและเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเวียงเศรษฐีวิทยามีเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่เศษ อยู่ในเขตติดต่อระหว่างหมู่ที่ 3 บ้านหนองแฝก กับหมู่ที่ 2 บ้านสันป่าสัก ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่ (ฐิติพงศ์ แสงส่อง, 2554)

ปัจจุบันแหล่งเวียงเก่าแห่งนี้มีสภาพเป็นที่ราบกว้าง เนื่องจากถูกปรับพื้นที่หน้าอาคารเรียน เป็นสนามฟุตบอล พื้นที่โดยรอบเป็นที่นา หลักฐานก่อนนั้นปรากฏว่า มีดังนี้คือ 


  1. เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของสนามฟุตบอล บนเนินดินขนาดใหญ่ รูปร่างค่อนข้างกลม สูงประมาณ 5 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก ประมาณ 13 เมตร มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมตัวโบราณสถานจนเกือบมิดเนิน ทำให้พังทลาย ทางด้านตะวันตกและทิศใต้มีร่องรอยของการลักลอบขุดเป็นโพรงขนาดค่อนข้างใหญ่ คงจะขุดโดยพวกฮ้อที่ต้องการฆ้องทองคำจนมองเห็นแนวอิฐ สภาพบนเนินค่อนข้างรก มีเศษอิฐและพระพุทธรูปที่ชาวบ้านนำมาวางไว้ พร้อมกับศาลพระภูมิกระจายอยู่ทั่วไปแล้ว (ปัจจุบันมีศาลเพียงตาตั้งอยู่)
  2. แนวอิฐ พบบริเวณสนามฟุตบอลด้านตะวันออกของเจดีย์ อาจเป็นส่วนฐานของโบราณสถานแต่ถูกไถปรับพื้นที่ไปแล้วในปัจจุบัน 
  3.  แนวอิฐ พบด้านนอกรั้วโรงเรียนด้านตะวันออกเป็นแนวยาวโดยตลอด เข้าใจว่าคงเป็นแนวกำแพงแก้ว จากขอบเขตของแนวอิฐที่พบเข้าใจว่าบริเวณแหล่งโบราณสถานแห่งนี้คงมีพื้นที่กว้าง น่าจะประกอบไปด้วยโบราณสถานอันได้แก่ เจดีย์ โบสถ์ และ พระวิหาร จากการสอบถามผู้สูงอายุทราบว่าเดิมมีแนวอิฐเกือบทุกด้าน และคงมีแนวกำแพงแก้วอยู่โดยรอบ แต่ถูกปรับพื้นที่ไปหมดแล้ว พอจะสันนิฐานว่า บรรดาเศรษฐีเหล่านี้คงจะมาอาศัยในสมัยที่พระนางจามเทวีมาบูรณะองค์พระนอนป่าเก็ดถี่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1025 และบางทีก็คงจะมาในสมัยที่พระยามังรายมาปกครองเวียงกุมกาม หรือไม่ก็อาจจะมีมาก่อนทั้งสองยุคก็เป็นได้ เพราะสังเกตพระพุทธรูปบางองค์เป็นศิลปะลังกาวงค์   สมัยที่คนชอบขุดหาสมบัติบริเวณวัดร้างแห่งนี้มักได้ของมีค่าไป แต่ไม่นานก็มีอันเป็นไปต่างๆ นาๆ เช่น เป็นโรคเรื้อนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้ตู๊ด” บ้างเป็นไข้ไม่รู้สาเหตุบ้าง จนทำ   ให้พวกที่ขุดหาสมบัติต้องพากันหวาดกลัว บางทีพระบรมธาตุที่สถิตอยู่ที่ในวัดร้างในเวียงเก่าแห่งนี้เมื่อถึงวันสรงน้ำพระบรมธาตุวัดหนองแฝก มักจะสำแดงปาฏิหาริย์ล่องลอยมาที่พระบรมธาตุวัดหนองแฝกเพื่อ “ล้อแสงพระธาตุ” หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระธาตุออกแอ่ว” มีวรรณะต่างสีกันไม่ว่าจะเป็นสีแดงหรือสีเขียว บางทีก็มีลูกไฟตกลงมาเป็นสาย บ้างก็เปล่งแสง ล่องลอยไปตามขอบจั่วพระวิหารวัดหนองแฝก ในตอนกลางคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำวันออกพรรษา วันเข้าพรรษา และวันสรงน้ำพระบรมธาตุวัดหนองแฝก ส่วนสิ่งของที่พบในวัดร้างส่วนมากจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ เช่น กล้องยาสูบศิลปะล้านนาซึ่งพบมากตามวัดร้าง ครกดินเผา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยล้านนา และบางส่วนที่เป็นศิลปะลังกาวงค์ พระพิมพ์ดินเผา พระคง พระสิบสอง พระปลีกล้วย พระเนื้อชินตะกั่วสมัยเชียงแสน และพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะหริภุญชัยและล้านนา ซึ่งคงได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งเมื่อพระนางจามเทวีมาบูรณะพระนอนป่าเก็ดถี่ และอีกทางหนึ่งคือรับมาจากครั้งเมื่อพระยามังรายมาครองเวียงกุมกาม ก่อนที่พระองค์จะไปสร้างเมืองเชียงใหม่ (ฐิติพงศ์ แสงส่อง, 2554)

ที่มา การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตำนานโบราณสถานวัดเวียงเศรษฐี (ร้าง)

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่