แนวกำแพงโบราณเมืองฝาง
- ถนนรอบเวียงสุทโธ ตำบลเวียง อำเภอฝางเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50110
-
- เปิดทุกวัน 24 Hours
- #กำแพงโบราณ #กำแพงเมืองฝาง
-
ตำแหน่งจีพีเอส : 19.9221101, 99.2180954 (เปิดแผนที่บน Google Map) | เปิดพิกัดปัจจุบัน
เมืองฝางเป็นเมืองเก่า มีอายุกว่า 700 ปี เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ล้านนา เป็นสถานที่ประทับของพญามังรายก่อนสถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ.1839 สันนิษฐานว่ากำแพงและคูเมืองฝางที่มีกำลังบูรณะสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1800 เทียบเคียงสมัยสุโขทัยตอนต้น กำแพงเมืองฝางมีขนาดใหญ่ แสดงถึงความสำคัญของเมืองในอดีต ปัจจุบันมีแนวกำแพงที่เหลืออยู่ 660 เมตร กว้าง 20 เมตร การก่ออิฐกำแพงเมือง-คูเมืองฝาง มีลักษณะเทคนิคเชิงช่างที่น่าสนใจ และแตกต่างจากเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน และเมืองลำพูน โดยกำแพงเมืองฝางมีลักษณะแกนชั้นในเป็นแกนดิน ก่อหุ้มด้านบนและด้านในกำแพงด้วยอิฐ การวิเคราะห์ลักษณะก่ออิฐเบื้องต้นพบองค์ประกอบกำแพงเมือง คือ ด้านในกำแพงมีการก่อในลักษณะชั้นก่อลดหุ้มแกนดินประมาณ 3-4 ชั้น โดยมีการทำฐานราก ถัดขึ้นไปบนกำแพงแกนดินเป็นเชิงเทินก่ออิฐกว้างประมาณ 1 เมตร ใต้พื้นเชิงเทินมีการก่ออิฐเป็นแกนเพื่อยึดระหว่างชั้นก่อลดกับกำแพงอิฐ ถัดจากเชิงเทินเป็นกำแพงก่ออิฐมีฐานราก หนาประมาณ 1 เมตร ส่วนพื้นผิวด้านนอกเป็นดินไม่มีการก่ออิฐหุ้มแต่อย่างใด
กำแพงเมือง – คูเมืองฝาง มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17-18 แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนดั้งเดิมมาก่อนหน้าที่พญามังรายจะสร้างหรือพัฒนาเมืองฝาง ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 กำแพงเมือง-คูเมืองฝาง ถูกพัฒนาเสริมให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับช่วงระยะเวลาที่พญามังรายสร้างเมืองฝาง ตามประวัติศาสตร์ล้านนาเพื่อเตรียมการยึดหริภุญชัย หลังจากนั้นกำแพงเมืองฝางก็ถูกเสริมความแข็งแกร่งอีกครั้งโดยการก่อกำแพงอิฐหุ้มคันดินในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมใดๆจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ที่มา แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม (onep.go.th)