อนุสาวรีย์ พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว

ประวัติความเป็นมา

          ตามหลักฐานที่ค้นพบหลายๆแห่งระบุว่า พระเจ้าฝางอุดมสิน พระนามเดินชื่อ “พระยาเชียงแสน” เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาปกครองเมืองฝาง ในปี พ.ศ. 2172 ศักราชได้ 99 ตั๋ว เดือนแปดแรม 13 ค่ำ พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระชายาซึ่งมีพระนามว่า “พระนางสามผิว” ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าเมืองล้านช้าง (เวียงจันทร์)ซึ่งมีพระศิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศว่าพระองค์มีผิวพระวรกายถึงสามผิว ในแต่ละวันคือตอนเช้าจะมีผิวขาวดังปุยฝ้าย ในตอนบ่ายจะมีสีแดงดังลูกตำลึงสุก และในตอนเย็นผิวพระวรกายของพระนางจะเป็นสีชมพูดุจดอกปุณฑริก(ดอกบัวขาบ)

          พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว มีพระราชธิดาองค์หนึ่งมีพระนามว่า “พระนางมัลลิกา” ในขณะที่พระองค์มาปกครองเมืองฝางนั้น เมืองฝางยังคงเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าฝางจึงทรงมีความคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพให้แก่เมืองฝาง โดยให้ส้องสุมผู้คนและได้ตระเตรียมอาวุธเสบียงกรัง โดยไม่ยอมส่งส่วยและขัดขืนคำสั่งของพม่า ซึ่งทางพม่าได้ล่วงรู้ว่าเมืองฝางคิดจะแข้งข้อต่อตน จึงได้ยกกองทัพมาปราบ โดยกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะพระนามว่า “พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา” เป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเข้าตีเมืองฝางในปี พ.ศ. 2176 ศักราชได้ 955 ตั๋ว พระเจ้าฝางนำกองทัพป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ทำให้พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาเข้าตีเมืองไม่ได้

          พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้เปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยนำกำลังทหารล้อมเมืองไว้ พร้อมทั้งตั้งค่ายอยู่บนเนินด้านทิศเหนือของเมืองฝาง คือที่ตั้งศาลจังหวัดฝาง เรือนจำจังหวัดฝาง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สถานีตำรวจภูธรอำเภอฝาง หรือที่เราเรียกว่า “เวียงสุทโธ” ในปัจจุบันนี้ แล้วสั่งให้ทหารระดมยิงธนูไฟ (ปืนใหญ่) เข้าใส่เมืองฝางทำให้บ้านเมืองฝางเกิดระส่ำระส่าย ประชาชนเสียขวัญและทหารล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

          พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ทั้งสองพระองค์ทรงคิดว่าสาเหตุของการเกิดศึกในครั้งนี้ ต้นเหตุนั้นเกิดจากพระองค์ทั้งสองแท้ๆที่คิดจะกอบกู้อิสรภาพ ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนและการกระทำครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จ ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องผู้คนเมืองฝางให้พ้นจากความอดอยากและการถูกเข่นฆ่าจากกองทัพของพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชา

          และในคืนนั้นคือวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 เหนือปี พ.ศ. 2180 ศักราชได้ 999 ตั๋ว พระเจ้าฝางพร้อมด้วยพระนางสามผิว จึงได้สละพระชนม์ชีพ ด้วยการกระโดดบ่อน้ำซาววา และในตอนรุ่งสางของวันนั้น กองทัพพระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาก็ตีและบุกเข้าทางกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองฝางได้สำเร็จ เมื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ที่ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ พระเจ้าภะวะสุทโธธรรมราชาจึงได้ออกคำสั่งมิให้ทหารของพระองค์ ทำร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองฝางอีก และได้ยกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ ประเทศพม่า โดยมิได้ยึดครองเมืองฝางแต่ประการใด

          เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะลูกเสือชาวบ้านพร้อมด้วยผู้ที่เคารพนับถือในสองพระองค์ท่าน จึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง-พระนางสามผิวขึ้น ณ ด้านหน้าบ่อน้ำซาววา ในปี พ.ศ. 2522 โดยก่อสร้างด้วยปูน ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่โดยให้ทำการหล่อด้วยโหละ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2540 เพื่อจะได้เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนตลอด

ที่มา ห้องสมุด กศน. อำเภอฝาง (nfe.go.th)

เทรนด์
เมษายน 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่