ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง


ประวัติและความเป็นมา

ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน  2521 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  (โครงการในพระราชประสงค์ที่ 7)  ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการหลวงภาคเหนือ  โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ และชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงที่ประกอบอาชีพการเกษตร  โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

สำหรับทุนทรัพย์ในการจัดตั้ง ขั้นเริ่มต้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเสียสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับจ่ายในการดำเนินงานบุกเบิก  ทำให้หน่วยงานอื่น ๆ สนองพระประสงค์ในด้านต่าง ๆ คือเครื่องมือในการบุกเบิกจากโครงการหลวงพัฒนาที่ดิน การชลประทานจากโครงการชลประทานในพระราชประสงค์   กรมป่าไม้ได้อนุเคราะห์ยกพื้นที่ป่าสงวนให้จัดตั้งเป็นสถานีทดลอง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการในด้านวิจัยและขยายพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาว และสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบงานหลักคือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว งานค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ ของสถานีฯที่ประสบผลสำเร็จ  คณะกรรมการส่งเสริมของโครงการหลวงภาคเหนือและกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับนำไปส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขาและเกษตรกรที่อยู่บนที่สูง  เพื่อการบริโภคและจำหน่ายให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  เป็นการยกระดับฐานะเกษตรกรให้ดีขึ้น


ต่อมาได้มีประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2524  ให้โครงการพระราชประสงค์ที่ 7 เป็นสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง สังกัดสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร

ในปี  2546 กรมวิชาการเกษตรมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง เป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ 2 สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และในปี 2548 กรมวิชาการเกษตรมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่อีกครั้ง ได้ยุบรวมศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ 2 เข้ากับศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ 3 (สถานีทดลองพืชสวนฝาง) เป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่

ต่อมาในปี 2549  มีการปรับโครงสร้างอีกครั้ง  รัฐบาลได้จัดตั้งกรมการข้าวขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 หน่วยงานนี้จึงแยกไปสังกัดกรมการข้าว และได้ชื่อว่า "ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง"

ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ 18° 17’เหนือ และเส้นแวงที่ 98° 36’ ตะวันออก ที่บ้านปางดะ  หมู่ที่ 10  ตำบลสะเมิงใต้  อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่   ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ42 กิโลเมตรโดยเส้นทางถนนสายเชียงใหม่-หางดง –สะเมิง   และประมาณ 44 กิโลเมตรโดยเส้นทางถนนสายเชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง   ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ  781 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอสะเมิง ประมาณ 5 กิโลเมตร   หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อคือ 0-5337-8093-5


ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 308 ไร่  เป็นพื้นที่บริเวณอาคาร สิ่งก่อสร้างประมาณ  6 ไร่  แปลงทดลองและผลิตเมล็ดพันธุ์ประมาณ  105 ไร่  พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารประมาณ  46  ไร่  พื้นที่สนามและแปลงไม้ดอกไม้ประดับประมาณ  18  ไร่  และเป็นพื้นที่อื่น ๆ ประมาณ 133 ไร่   บริเวณสูงสุดในพื้นที่มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 830 เมตร และบริเวณต่ำสุดมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 735 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ลักษณะดินประกอบด้วยชุดดิน 3 ชุดคือดินชุดบ้านจ้องเป็นดินร่วนเหนียว มีเนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ มีความเป็นกรดปานกลาง (pH 6.0-7.0)   มีปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง  มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง  มีปริมาณธาตุโปแตสเซียมสูงมาก  สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเป็นเชิงเขา  มีความลาดชันตั้งแต่  3 ถึงมากกว่า 35%    ดินชุดปากช่องเป็นดินร่วนเหนียว มีเนื้อที่ประมาณ 26.5 ไร่ มีความเป็นกรดแก่ถึงปานกลาง (pH 5.5-7.0)  มีปริมาณอินทรียวัตถุสูงถึงสูงมาก  มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสสูงมาก  มีปริมาณธาตุโปแตส เซียมสูงมาก  สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเป็นเชิงเขา  มีความลาดชันตั้งแต่ 3-20%     และดินชุดลี้เป็นดินร่วนเหนียว มีเนื้อที่ประมาณ 54.5 ไร่ มีความเป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลาง (pH 6.5-7.0)   มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง  มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัสสูง  มีปริมาณธาตุโปแตสเซียมสูงมาก  สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนชันเล็กน้อยถึงเป็นเนินเขา  มีความลาดชันตั้งแต่  5- 35%

ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการผลิต การอารักขา การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปข้าว/ข้าวสาลี ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว/ข้าวสาลี ชั้นพันธุ์คัดและพันธุ์หลัก ตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตข้าว/ข้าวสาลีที่ดีและเหมาะสม อีกทั้งให้บริการวิชาการด้านข้าว/ข้าวสาลี

ที่มา smg-rrc.ricethailand.go.th

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่