วัดราชมณเฑียร

ประวัติความเป็นมา วัดมณเฑียร

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๗๔ เดิมชื่อ วัดราชมณเฑียร เป็นวัดแรกที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์สมัยราชวงศ์มังรายทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยที่พระองค์ทรงราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชและพระมหาเทวีทรงโปรดเกล้าให้รื้อพระตำหนักราชมณเฑียรส่วนพระองค์มาสร้างเป็นวัดเพื่อถวายพระมหาญาณคัมภีร์มหาเถระและคณะ พระองค์ทรงพระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดราชมณเฑียร 

ในสมัยที่ราชวงศ์มังรายเรืองอำนาจ วัดราชมณเฑียรมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ และพระมหาญาณคัมภีร์ปฐมเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมณเฑียรยังเป็นนักปราชญ์ผู้ทรงคุณธรรม เป็นที่เคารพนับถือและเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาในอดีต เพราะทรงทำนุบำรุงเผยแพร่ศาสนาพุทธจนรุ่งเรือง และแผ่ขยายไปถึงแคว้นนครเชียงตุง และเมืองสิบสองปันนา 

 แต่ภายหลังอาณาจักรล้านนาล่มสลาย ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานกว่า ๒๐๐ ปี วัดวาอารามในล้านนาถูกปล่อยให้รกร้าง ขาดการบูรณะซ่อมแซม จนอยู่ในสภาพทรุดโทรม กระทั่งเมื่อพระเจ้ากาวิละได้กอบกู้เอกราชของแคว้นล้านนาคืนมา วัดราชมณเฑียรและอารามที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ จนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2543 วัดราชมณเฑียรได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยการอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน

ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น วัดมณเฑียร

วิหายลายคำ พระวิหารหลวงสถาปัตยกรรมไทยล้านนา 2 ชั้น ตัวอาคารประดับด้วยลวดลาย ปูนปั้น   และลายคำแบบล้านนา ชั้นหนึ่งเป็นสถานที่ทำบุญของพุทธศาสนิกชน ส่วนชั้นที่สองใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ และสามเณร  ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของพระมหาญาณคัมภีร์   ตั้งแต่เริ่มบวช เผยแผ่พระศาสนา สืบพระศาสนาไปยังศรีลังกา จนกระทั่งมาเผยแพร่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ฝาผนังยังมีการวาดลวดลายคำ ซึ่งเป็นลายดอกไม้แบบโบราณ ซุ้มประตูหน้าพระวิหารประดับปูนปั้น และกระจกแก้วอังวะ ติดทองคำเปลว ลวดลายล้านนาประยุกต์

พระพุทธราชมณเฑียร สลักด้วยหินทราย ทรงเครื่องศิลปะล้านนา ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่มีพระพุทธรูปหินทรายที่วัดร่ำเปิงเท่านั้น พระมหาชัชวาล โชติธฺมโม เจ้าอาวาส นำหินทรายมาจากเมืองพะเยา

ที่มา templeofchiangmai.weebly.com

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่