เทศบาลตำบลแสนไห

ประวัติเทศบาลตำบลแสนไห

ตำบลแสนไห  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเวียงแหง พื้นที่มีลักษณะคล้ายคันไถ ทอดในแนวเหนือใต้ของอำเภอเวียงแหง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 22 ตารางกิโลเมตร หรือ 13,750 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่โดยรอบ ดังนี้

  •  ทิศเหนือ            ติดสหภาพพม่า และตำบลเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
  • ทิศใต้                ติดตำบลเมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก     ติดตำบลเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
  •   ทิศตะวันตก       ติดหมู่บ้านนามน ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่


            ลักษณะทั่วไปของพื้นที่สภาพของตำบลเวียงแหง เป็นที่สูงสลับภูเขาและเนินเขา มีที่ราบเล็กน้อย มีทรัพยากรธรรมชาติ คือ แร่ลิกไนต์ ป่าไม้ และลำน้ำแม่แตงไหลผ่านพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านม่วงป๊อก และบ้านปางป๋อ บ้านมหาธาตุ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสาขาคือห้วยแม่ลาด ซึ่งไหลผ่าน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสันดวงดี บ้านสามปู ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นเมือง นับถือศาสนาพุทธ การดำรงชีวิตขึ้นกับภาคการเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ การทำนาข้าวปีละครั้ง สวนมะม่วง สวนลิ้นจี่ สวนผักกาด ไร่กระเทียม และไร่พริก นอกจากนี้ยังมีการรับจ้างใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างในภาคเกษตรกรรม


  • การประกอบธุรกิจการค้า มีปั๊มน้ำมันและปั๊มก๊าช 6 แห่ง ร้านอาหาร 2 แห่ง และโรงสี 8 แห่ง
  • สถานศึกษา มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และห้องสมุดประชาชน 5 แห่
  • สถาบันทางศาสนา ประกอบด้วย วัด 4 วัด และสำนักสงฆ์ 2 แห่ง
  • สาธารณสุข มีสถานีอนามัยประจำตำบลและประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง
  • สาธารณูปโภค ประกอบด้วยระบบประปาภูเขา 2 แห่ง บ่อน้ำตื้น 80 แห่ง และระบบน้ำบาดาล 8 แห่ง


วัฒนธรรม ได้มีการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มาก เช่น วัดพระธาตุแสนไห และบ่อน้ำช้างศึกสมเด็จพระนเรศวรฯ ริมน้ำแม่แตง เป็นต้น รวมทั้งยังได้อนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณีเก่า ๆ เช่น การฟ้อนรำ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุแสนไห ประเพณียี่เป็ง งานสลากภัตต์ และปอยเตียน เป็นต้น


พื้นที่หมู่บ้านในตำบลแสนไห ประกอบด้วย        


1. บ้านสันดวงดี หมู่ที่ 1 ตำบลแสนไห เนื้อที่ประมาณ 1,054 ไร่

2. บ้านสามปู หมู่ที่ 2 ตำบลแสนไห เนื้อที่ประมาณ      572   ไร่

3. บ้านม่วงป็อก หมู่ที่ 3 ตำบลแสนไห เนื้อที่ประมาณ 1,463   ไร่

4. บ้านมหาธาตุ หมู่ที่ 4  ตำบลแสนไห เนื้อที่ประมาณ 467 ไร่

5. บ้านปางป๋อ หมู่ที่  5  ตำบลแสนไห เนื้อที่ประมาณ    931   ไร่

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


หมู่บ้านปางป๋อ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า บ้านโป่งอ่อน ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านเมืองคอง อำเภอเชียงดาว  และอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  เริ่มแรก ณ ขณะนั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวน  15 ครัวเรือน โดยผู้เฒ่า ผู้แก่ ต้นตระกูลเดิม 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูล  กาเรือง  วงค์ษา  และสายผึ้ง เดินทางเข้ามาหาพื้นที่ทำกินและสร้างที่พักอาศัย


สภาพพื้นที่ในอดีตเต็มไปด้วยต้นป๋อ  (ภาษาทางการเรียกว่า “ปอ”) ชาวบ้านนำมาใช้จัดทำเป็นเรือนพัก ที่อยู่อาศัยชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “ปาง” ในขณะที่การเดินทาง คมนาคมขนส่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ต้องใช้การเดินเท้า ใช้วัวต่าง ช้างต่าง และเกวียนในการขนส่งและสัญจรไปมากกลายเป็นจุดพักแรมของผู้คนที่เดินทางไปมา   ฉะนั้นบ้านปางป๋อ  จึงเป็นชื่อของการนำเอาคำสองคำมารวมกันทั้งสภาพพื้นที่ทั่วไปเต็มไปด้วยต้นป๋อ กับเรือนพักชั่วคราวที่เรียกว่า “ปาง” ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านของตนเองในขณะนั้นว่า บ้านปางป๋อเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  

ปัจจุบัน บางปางป๋อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5  ในเขตการปกครองตำบลแสนไห  อยู่ห่างจากอำเภอเวียงแหงประมาณ 13 กิโลเมตร  มีจำนวนประชากร  1,000 คน จากจำนวนครัวเรือน 450 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 1,900 ไร่  โดยมีพื้นที่เกษตร 1,000 ไร่ โดยมีขอบเขตพื้นที่ ดังนี้

  • ทิศเหนือ           ติดกับหมู่บ้าน   บ้านมหาธาตุ หมู่ที่ 4
  • ทิศใต้               ติดกับหมู่บ้าน   บ้านกองลม หมู่ที่ 2
  • ทิศตะวันออก     ติดกับหมู่บ้าน    อุทยานแห่งชาติผาแดง
  • ทิศตะวันตก       ติดกับหมู่บ้าน    อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง


ลักษณะทั่วไปของพื้นที่บ้านปางป๋อ เป็นที่ราบลุ่มน้ำสลับกับที่เนินเขาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ทำกิน โดยมีแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรโดยอาศัยลำน้ำแม่แตง ลำน้ำห้วยทราย และ ห้วยป่าห้า เป็นหลัก  และมีหนองน้ำที่ชาวบ้านนำมาใช้ทางการเกษตร  2 แห่ง คือหนองอึ้งบน และหนองห้วยโป่งอ่อน โดยชาวบ้านดำเนินการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โป่งปืน  ห้วยโป่งอ่อน ห้วยปางตอง ห้วยผักห้า มีแม่น้ำไหลผ่านในหมู่บ้าน จำนวน  ๒   แห่ง ได้แก่ แม่น้ำแตง ห้วยทราย โดยมีแก่เหมือง แก่ฝายที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำซึ่งมีอยู่ 3 คน คือ นาย บรรจง   คำแหลง  นายอิน  กาเรือง  นาย แก้ว  วงศ์ษา ทั้งนี้ได้แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบออกเป็น 3 ส่วน คือ ฝั่งซ้าย  ฝั่งขวา และกลาง


ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะ การปลูกกระเทียม ซึ่งถือว่าเป็นพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญและเป็นรายได้ของชุมชนเวียงแหงไม่แต่เฉพาะบ้านปางป๋อเท่านั้น รองลงมาได้แก่ พริก และถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนหนึ่งชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินจะรับจ้างภายในชุมชน และบางครัวเรือนประกอบธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ ในชุมชนซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลของเทศบาลตำบลแสนไห ปี พ.ศ. 2556 พบว่า มีร้านขายของชำจำนวน  7 แห่ง  มีร้านขายอาหารตามสั่ง จำนวน 3 แห่ง รวมทั้งธุรกิจส่วนตัวเช่น ร้านเสริมสวย  2 แห่ง ร้านตัดผมชาย  1 แห่ง ร้านซ่อมจักรยานยนต์ 1 แห่ง  ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านซัก อบ รีด เป็นต้น


            นอกจากนี้ยังมีสถานบริการทางด้านการศึกษา ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำหมู่บ้าน  โรงเรียนระดับประถมศึกษา รวมทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ทำให้ชุมชนได้รับการบริการ  การอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท้องถิ่นเทศบาลตำบลแสนไห



บ้านมหาธาตุ หมู่ที่ 4 ตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

 ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


 ในอดีตเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตปกครองของบ้านปางป๋อ หมู่ที่ 5  แต่เนื่องจากประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นและหนาแน่น จึงขอแยกมาจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ และบริเวณหมู่บ้านเป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุแสนไห ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านมหาธาตุ ในอดีตชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนกันด้วยบริเวณที่ราบลุ่ม ซึ่งมีแม่น้ำแตงไหลผ่านแต่เนื่องจากเกิดน้ำท่วมหลายครั้ง ชาวบ้านจึงย้ายมาสร้างที่พักอาศัยบริเวณเนินเขาด้านตะวันออกของแม่น้ำแตง บ้านมหาธาตุประกอบด้วยบ้านบริวาร ได้แก่ บ้านสันติสุข ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยใหญ่  บ้านมหาธาตุ ตั้งอยู่ในตำบลแสนไหห่างจาก อำเภอเวียงแหงไปทางทิศเหนือประมาณ 11 กิโลเมตร มีจำนวนประชากรในปัจจุบัน  1,100  คน  จำนวนครัวเรือน  240  หลังคาเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 480 ไร่  พื้นที่ทำการเกษตร 400 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ            ติดกับหมู่บ้าน  ม่วงป๊อก หมู่ที่ ๓
  • ทิศใต้                 ติดกับหมู่บ้าน  ปางป๋อ   หมู่ที่ ๕
  • ทิศตะวันออก    ติดกับหมู่บ้าน   ป่าอุทยานแห่งชาติผาแดง
  • ทิศตะวันตก       ติดกับหมู่บ้าน   ป่าอุทยานแงชาติห้วยน้ำดัง


สภาพทั่วไปของพื้นที่  บ้านมหาธาตุมีลักษณะ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเนินเขาและที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งเหมะแก่การเพาะปลูก โดยมีลำน้ำแม่แตงเป็นแม่น้ำหลักในการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร  มีหนองน้ำภายในหมู่บ้านจำนวน 13 แห่งที่ชุมชนขุดไว้ตามพื้นที่ไร่ สวน เพื่อใช้ทางการเกษตร กรณีที่ไม่สามารถใช้น้ำจากลำห้วยสาขา หรือลำน้ำแม่แตงได้  นอกจากนี้ยังมีการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายอีก 3 แห่ง ได้แก่ฝายห้วยทราย  ฝายตีนธาตุ  และฝายห้วยแม่ลาด  ที่ชาวบ้านดึงน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร มีการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย 2 ฝาย  ได้แก่ฝายห้วยทราย และฝายห้วยแม่ลาด โดยมีแก่เหมืองแก่ฝาย ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ 2 คน คือ นาย สมชาย  สึงนวล  และ นาย พลอย ศรีสุข


ชาวบ้านบ้านมหาธาตุ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกกระเทียมทั้งที่ปลูกในพื้นที่สวน ไร่ โดยใช้น้ำจากท่อที่ดึงมาจากหนองน้ำ บ่อที่ขุดเองในสวน และลำห้วยสาขา สลับกับการปลูกพริกลงในแปลงกระเทียม  รองลงมา ชาวบ้านบางส่วนที่มีที่นาดั้งเดิม ยังคงทำนา ปลูกข้าว และถั่วเหลือง

            ด้านประเพณี วัฒนธรรม บ้านมหาธาตุ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนไทยใหญ่ ฉะนั้น ภาษา เครื่องแต่งกาย  จึงมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน เครื่องแต่งกาย รวมทั้งศิลปะการแสดง เช่น รำนก รำโต  ฟ้อนดาบ ลิเกไทยใหญ่ และรำค้อน

บ้านม่วงป็อก ตำบลแสนไห  อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่

 

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


ตั้งอยู่ตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ประวัติความเป็นมาในอดีตมีชายตระกูลปัญญา ยาป้อ จำนวน ๕ คน คือ  พ่อสม พ่อใจ พ่อแสง พ่อทา และพ่อมี เดินทางมาจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่เห็นพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลผ่านเหมาะแก่การทำการเกษตรจึงเข้ามาตั้งรากฐานทำกิน พักอาศัยอยู่และเนื่องจากภายในหมู่บ้าน  มีต้นมะม่วงขนาดใหญ่ มีลักษณะป้อมเตี้ยชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านม่วงป็อกตามลักษณะของต้นมะม่วง ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่


บ้านม่วงป็อก ตั้งอยู่ตำบลแสนไห ห่างจากอำเภอเวียงแหงประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีจำนวนพื้นที่ของหมู่บ้านทั้งหมด ๑,๘๐๐ ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร ๘๐๐ ไร่   จำนวน ประชากร ๑๗๑๗ คน จำนวนหลังคาเรือน  ๓๓๔ หลังคาเรือน


อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ            ติดกับหมู่บ้าน  บ้านจอง
  • ทิศใต้                 ติดกับหมู่บ้าน  บ้านมหาธาตุ
  • ทิศตะวันออก    ติดกับหมู่บ้าน  เขตอุทยานแห่งชาติผาแดง
  • ทิศตะวันตก       ติดกับหมู่บ้าน  ติดลำน้ำแม่แตง


สภาพทั่วไปของพื้นที่  มีลักษณะเป็นที่ราบเนินเขา และที่ราบลุ่มแม่น้ำแตง โดยมีแหล่งน้ำในหมู่บ้านที่สำคัญ คือ ลำน้ำแม่แตงที่ไหลผ่านหมู่บ้านและลำห้วยโป่งอาง ลำน้ำสาขา รวมทั้งแหล่งน้ำสาธารณะของหมู่บ้าน จำนวน 2 แห่ง

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนกระเทียม ปลูกพริก เป็นหลัก และบางครอบครัวดำเนินการด้านพานิชยกรรม ทั้งร้านขายของชำ ร้านอาหารตามสั่ง และดำเนินการธุรกิจบริการ ทั้งร้านเสริมสวย  ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า  ร้านซักรีด  ร้านซ่อมจักรยานยนต์  และอาคารหอพัก


ด้านทรัพยากรในพื้นที่   ด้านการจัดการป่า ดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านม่วงป๊อก มีกฎระเบียบกติการ่วมกันในชุมชนในการห้ามตัดไม้ทำลายป่า ปลูกป่าในวันสำคัญ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   นอกจากนี้บ้านม่วงป๊อกมีการใช้ประโยชน์จากป่าทั้งใช้สอย สมุนไพรรักษาโรค พึ่งพาทางอาหารจากป่า   ด้านการจัดการน้ำเหมืองฝาย มีการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย ได้แก่  ฝายกันเจ๊อะ  ฝายโป่งอาง  ฝายแม่ยางกุ่ม  ฝายห้วยดินดำ  โดยมีแก่ฝายทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำเหมืองฝาย

ที่มา เทศบาลตำบลแสนไห (sanhai.go.th)

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่