ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ


ประวัติกิจการน้ำมันฝาง

ประมาณก่อนปี พ.ศ.2464  ชาวบ้านท้องที่  อ.ฝาง พบน้ำมันลักษณะสีดำ ไหลซึมขึ้นมาบนผิวดิน  บางคนว่าเป็นน้ำมันศักดิ์สิทธ ิ์ นำมาทาร่างกายรักษาโรคต่างๆ  ความทราบถึงเจ้าหลวงเชียงใหม่ จึงสั่งให้ขุดบ่อเพื่อกักน้ำมันไว้  เรียกว่า “บ่อหลวง” หรือ “บ่อเจ้าหลวง”  ต่อมาหน่วยราชการหลายฝ่ายสนใจทำการสำรวจ และ ดำเนินการติดต่อกันมาหลายสมัย พอสรุปได้ดังนี้


สมัยกรมรถไฟ            
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็น ผู้บัญชาการรถไฟ ทรงทราบถึงการค้นพบน้ำมันที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จึงทรงติดต่อว่าจ้าง นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Mr.Wallace Lee มาทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2464 - 2465 รวม 2 ปี พร้อมกันนั้นได้ทรงสั่งเครื่องเจาะ และว่าจ้างชาวอิตาเลียน ทำการเจาะบริเวณบ่อหลวง จำนวน 2 หลุม หลุมแรกลึก 216 เมตร การเจาะขัดข้อง พบเพียงร่องรอยแก๊สธรรมชาติ  อีกหลุมหนึ่ง อยู่บริเวณใกล้เคียง  เจาะลึก 185 เมตร ท่อกรุขาด จึงระงับการเจาะไป 

สมัยกรมทาง 

กรมทางเข้ามาดำเนินงานในปี พ.ศ.2475 อธิบดีในขณะนั้นคือ ม.ล.กรี  เดชาติวงค์  มีวัตถุประสงค์หาปริมาณทรายน้ำมันที่อยู่ใกล้ผิวดิน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกรมทาง ในการใช้แทนยางแอสฟัลต์ การสำรวจใช้เครื่องเจาะสว่านหมุนด้วยแรงคนเรียกว่า เครื่องเจาะบังก้า เจาะลึกประมาณ 10 - 20 เมตร ผลการสำรวจได้ปริมาณทรายน้ำมันประมาณ  3.8 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นกรมทางยังใช้เครื่องเจาะที่สามารถเจาะได้ 200 เมตร ทำการเจาะอีกหลายหลุม ปรากฏว่าพบน้ำมันในระดับความลึก ประมาณ 70 เมตร เรียกหลุมที่เจาะพบน้ำมันว่า “บ่อระเบิด” กรมทางพยายามผลิตน้ำมันออกมาได้ 40,000 ลิตร พร้อมทั้งสร้างโรงกลั่นทดลองเพื่อกลั่นน้ำมันที่ได้มา แต่เนื่องจากขาดอุปกรณ์ ขาดความชำนาญ รวมทั้งกิจการน้ำมันมิใช่หน้าที่ของกรมทาง งานทั้งหมดจึงต้องยุติลง 
 


สมัยกรมเชื้อเพลิงทหารบก    
                กรมเชื้อเพลิงทหารบกเริ่มงานสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2480  ด้วยการว่าจ้าง นักธรณีวิทยาชาวสวิส 2 นายคือ  Dr.Arnold Heim และ Dr.Hans Hirchi ทำการสำรวจ  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย 3 นาย ด้วยการตรวจสอบสภาพธรณีวิทยาผิวดินและขุดบ่อตื่น ๆ ด้วยแรงคนหลายบ่อ เพื่อหาทิศทางการซึม ของน้ำมันขึ้นมาบนผิวดิน การสำรวจดำเนินไป ประมาณเดือนเศษ จึงได้เลิกล้มไป 


สมัยกรมโลหะกิจ 
                    กรมโลหะกิจเข้าดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ.2492 - 2499 โดยใช้ชื่อหน่วยงานว่า “หน่วยสำรวจน้ำมันฝาง” ขั้นแรกทำการสำรวจธรณีวิทยาผิวดินและทางอากาศ สำรวจธรณีฟิสิกส์  ปี พ.ศ.2499 สั่งซื้อเครื่องเจาะชนิด Rotary เจาะได้ลึก 1,000 - 1,500 เมตร จากประเทศเยอรมันนี ทำการเจาะพบน้ำมันที่ระดับความลึกประมาณ 230 เมตร บริเวณบ่อต้นขาม ต่อมาเรียกว่า “แหล่งน้ำมันไชยปราการ” ต่อมา ซื้อเครื่องเจาะขนาดเล็ก ชนิดติดตั้งบนรถยนต์จากสหรัฐอเมริกา ตลอดจน อุปกรณ์ทำหลุมสำเร็จรูป ดำเนินการเจาะทำหลุมสำเร็จรูประดับ  200 - 300 เมตร เป็นบางหลุม ทางด้านการกลั่น ได้สร้างโรงกลั่นทดลองขนาดเล็ก ทำการกลั่นเป็นคราว  ใช้น้ำมันดิบประมาณ 1,000 ลิตร ดำเนินการกลั่นในระหว่างปี พ.ศ.2497 - 2499                 
                     การดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาน้ำมัน อ.ฝาง ในความควบคุมของกรมโลหะกิจนั้น มีคณะกรรมการทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่ชุดหนึ่ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการมีความเห็นว่า ในด้านการเจาะน้ำมันนั้น ควรทำการ เจาะสำรวจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนด้านการกลั่น ก็มุ่งในการทำแอสฟัลต์
                     สำหรับพื้นที่อำเภอฝางนั้นเดิมมีโรงกลั่นน้ำมันโรงแรก  คือ  โรงกลั่นน้ำมันทดลอง  ซึ่งออกแบบและสร้างขึ้นโดยนายช่างไทย ของกรมโลหะกิจ  และทำพิธีเปิดโรงกลั่น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2498 ได้ลงมือทดลองกลั่นในวันนั้น ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ  โรงกลั่นทดลองนี้เป็น แบบกลั่นทีละครั้ง  กล่าวคือ  เมื่อบรรจุน้ำมันดิบเข้าไปในหม้อกลั่นครั้งหนึ่ง ก็ทำการกลั่นไปจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ ที่ต้องการ แล้วก็ถ่ายเอากากกลั่นในหม้อออก  แล้วบรรจุน้ำมันดิบเข้าไปใหม่และทำ การกลั่นครั้งต่อไปอีก 

สมัยกรมการพลังงานทหาร        
                    ในปี พ.ศ. 2496  คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรจะขยายงานด้านเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมไปถึงพลังงานอื่น ๆ ที่จะจัดสรรหา มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติจึงได้ลงมติให้กระทรวงกลาโหม ดำเนินงานขยายกิจการด้านองค์การเชื้อเพลิง  ให้ครอบคลุมไปถึงพลังงานอื่น ๆ ด้วย กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่ง (พ) ที่ 76/27217 เมื่อ 30 ตุลาคม 2496 ตั้งกรมการพลังงานทหาร และ ปรับปรุงขยายกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  
                    เดือนมีนาคม พ.ศ.2499 Dr.Harold Hutton ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียม ได้ไปดูกิจการของ หน่วยสำรวจน้ำมันฝาง แล้วรายงานว่า น้ำมันดิบที่ฝางเป็นน้ำมันที่ควรกลั่นออกขายได้ และเสนอให้มีการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อตั้งโรงกลั่นขนาด 1,000 บาเรล ถ้าหากมีปริมาณเพียงพอ ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้โอน กิจการน้ำมันฝางไปขึ้นกับกรมการพลังงานทหาร เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2499    กิจการปิโตรเลียมเป็นที่สนใจของหน่วยทหารบก เพื่อสำรวจหาน้ำมัน มาสนับสนุนกองทัพ กรมการพลังงานทหารจึงได้ก่อตั้ง กองสำรวจและผลิตวัตถุดิบขึ้นเมื่อ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2499 เพื่อรับโอนงานจากกรมโลหะกิจ หลังจากที่ดำเนินการสำรวจ ผลิต และกลั่นน้ำมันที่ฝางได้ระยะหนึ่ง ได้ทำการขยายพื้นที่การสำรวจในลุ่มแอ่งภาคเหนืออีก 5 ลุ่มแอ่ง คือลุ่มแอ่งเชียงใหม่ ลุ่มแอ่งลำปาง ลุ่มแอ่งแพร่ ลุ่มแอ่งเชียงราย และลุ่มแอ่งพะเยา 

ทีมา ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร (mod.go.th)

เทรนด์
เมษายน 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่