หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา เหมืองกุง

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

     หมู่บ้านเหมืองกุงเดิมมีชื่อว่า "บ้านสันดอกคำใต้" ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของเชียงใหม่ มีการปั้นน้ำต้นและหม้อน้ำมานานกว่า 200 ปี จากคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมา ชาวบ้านเหมืองกุงส่วนหนึ่งเป็น ชาวไทที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุ เมืองสาด รัฐเชียงตุงซึ่งแต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทย แต่หลังจากที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐเชียงตุงที่มีอาณาเขตติดกับพม่าก็ถูกบุกยึดให้อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แต่พออังกฤษคืนเอกราชให้แก่พม่า พม่าก็นำเอารัฐเชียงตุงกลับไปเป็นดินแดนของตน ซึ่งปัจจุบันรัฐเชียงตุงอยู่ในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า

      งานวิจัยของอาจารย์สมโชติ อ๋องสกุล เมื่อปี พ.ศ. 2526 – 2528 ได้กล่าวถึงประวัติของบ้านเหมืองกุงว่าเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือ "ยุคสร้างบ้านแปงเมือง" เป็นยุคที่ริเริ่มฟื้นฟูอาณาจักรสร้างบ้านสร้างเมืองหลังจากตกอยู่ใต้อำนาจของพม่ามาเป็นเวลานาน หลังจากสร้างเมืองเสร็จ ยุคต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ "ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ที่ต้องเกณฑ์กำลังคนจากพื้นที่อื่น โดยการยกทัพไปตีเมืองต่างๆ แล้วแบ่งคนออกไปให้ทั่วเมืองเชียงใหม่ สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงการเกณฑ์กำลังคนมาสู่อาณาจักรล้านช้าง ในช่วงปี พ.ศ. 2325 – 2356 ชาวบ้านเหมืองกุง อพยพมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพียง 5 ครัวเรือน จากการจัดเรียงนามสกุล ได้แก่   ฟักทอง สืบคำเปียง ศรีจันทร์(สีจันทร์) สืบสุริยะ และกาวิโรจน์

     บรรพบุรุษที่มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเหมืองกุงนั้นต้องทำนา เพื่อนำข้าวเปลือกไปส่งให้เจ้ากาวิโรรส สุริยวงค์ (โอรสของพระเจ้ากาวิละ) พอเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งชาวบ้านจะขุดดินจากที่นาใกล้หมู่บ้านมาทำ น้ำหม้อ (ภาษาถิ่นหมายถึงหม้อน้ำดื่ม) และน้ำต้น (ภาษาถิ่นหมายถึงคนโท) ไว้สำหรับใส่น้ำดื่ม อีกทั้งยังใช้น้ำต้นในการรับแขกหรือใช้เป็นสังฆทานถวายวัดในพิธีทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมาจนถึงลูกถึงหลาน หากมีเหลือจึงนำไปขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นกิจกรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน
เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงมีลักษณะแต่ละครอบครัวต่าง ทำส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน โดยพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านจะนำเครื่องปั้นดินเผาใส่รถบรรทุกส่งต่อไปขายยังฝาง เชียงดาว และพร้าว ส่วนพ่อค้าคนกลางนอกหมู่บ้านที่มารับเครื่องปั้นดินเผาไปขายมีไม่มากเพียง 5% เท่านั้น และนอกจากนั้นก็จะมีชาวบ้านบางส่วนนำไปขายเองโดยนำหม้อน้ำและคนโทหาบใส่ตะกร้าใบใหญ่ไปขายที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในแถบนั้นจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านน้ำต้น" ตามคนโทหรือน้ำต้นที่ชาวบ้านเหมืองกุงทำขายนั่นเอง นอกจากนั้นยังนำไปขายที่ตลาดต้นลำไยและตลาดหลวงเพื่อส่งให้กับพ่อค้าคนจีนอีกด้วย ในยุคนั้นเป็นช่วงเฟื่องฟูของการทำเครื่องปั้นดินเผา น้ำต้นของบ้านเหมืองกุงมีชื่อเสียงจนเป็นที่กล่าวขานกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดในอาณาจักรล้านนาเพราะน้ำต้นที่ทำออกมามีความบางเบาและทนทาน จับรินแล้วคอน้ำต้นไม่หักง่าย ใส่น้ำแล้วเย็นทำให้ผู้ดื่มได้รับความสดชื่น และดินของบ้านเหมืองกุงจะเก็บน้ำได้ดีเพราะว่าเป็นดินในชั้นทราย ไม่ได้เป็นดินหน้านาซึ่งจะอุ้มน้ำได้น้อยกว่าแต่นอกจากบ้านเหมืองกุงยังมีหมู่บ้านอื่นอีกที่มีการปั้นหม้อน้ำและคนโทใส่น้ำ ได้แก่ บ้านน้ำต้นสันป่าตอง แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้วเนื่องจากไม่มีการต่อยอดของคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ตาม ยังมีบ้านกวนวัวลาย(ตำบลหารแก้ว) ที่ปั้นหม้อน้ำและหม้อแกงเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร เช่น ขนมจีน แต่ใช้ดินวัตถุดิบคนละอย่างกับการปั้นหม้อน้ำและวิธีการปั้นก็แตกต่างกับบ้านเหมืองกุงด้วย

    ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาที่เคยนิยมใส่น้ำดื่มกิน กลับกลายเป็นภาชนะอลูมิเนียม แก้วหรือพลาสติก ทำให้การสั่งผลิตน้ำต้นเริ่มน้อยลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเข้าไปทำงานรับจ้างในตัวเมืองทำให้ชาวบ้านที่ทำงานเครื่องปั้นดินเผาเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่หลังจากที่หมู่บ้านมีการตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงในปี พ.ศ. 2545 และได้รับเลือกจากองค์กรพัฒนาชุมชน  อ.หางดง และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ. 2548 จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและรวมตัวกันมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันมีประมาณ 22 ครัวเรือนที่ทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผาอย่างจริงจัง

     ชาวบ้านเริ่มพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จากเดิมอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตคือ ครกกระเดื่อง ใช้ตำดินให้ร่วน แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นเครื่องโม่ดินไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องร่อนดินหรือเครื่องกรองดินซึ่งในอดีตใช้เป็นตะแกรงแต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น เครื่องร่อนดินไฟฟ้าซึ่งมีความสะดวกกว่ามาก ในด้านของอุปกรณ์ในการปั้นคือ แป้นหมุนโดยใช้มือหมุน (เรียกว่า จ๊าด) ซึ่งในอดีตทุกครัวเรือนจะปั้นโดยใช้แป้นมือหมุนนี้ ต่อมาจึงมีการนำเอาเครื่องจักรมาช่วย เช่น แป้นหมุนมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้กระบวนการผลิตมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้นและสามารถ ผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าเดิมนอกจากนั้นชาวบ้านยังมีการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การสร้างลวดลายที่แปลกใหม่ และการแต่งสีสันให้ทันสมัย อีกทั้งยังมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าอีกด้วย เช่น โคมไฟ กระถาง อ่างบัว หรือแจกัน เป็นต้น

     จวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านเหมืองกุงที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานับวันจะเริ่มมีแต่ผู้สูงวัยเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานหัตถกรรมประเภทนี้มีจำนวนน้อยลงตามกระแสของ การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน บ้านเหมืองกุงจึงคล้ายกับต้องนับถอยหลังสู่ยุคที่เครื่องปั้นดินเผาจะหายไปจากหมู่บ้านและอาจจะเหลือแต่เพียงอดีตที่ทิ้งไว้เป็นตำนาน ดั่งคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า "ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน" ซึ่งตำนานนี้จะยังคงสืบสานมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลังและการช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมของผู้ที่ยังชื่นชมความงดงามของหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย

ที่มา http://www.handicrafttourism.com

เทรนด์
เมษายน 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่