วัดหนานช้าง (วัดปิงห่าง)
ประวัติความเป็นมา
ชื่อวัดหนานช้างเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันใหม่ในปี พ.ศ.2546 โดยตั้งตามชื่อเดิมของเจ้าของที่ดินบริเวณวัด (บางท่านเรียกว่าวัดปิงห่าง) สภาพก่อนดำเนินงานขุดแต่งพบเพียงเนินดินปรากฏเศษและแนวก่อเรียงอิฐกระจัดกระจาย หลังการขุดแต่งจึงพบว่าใต้ดินลึกลงไปเฉลี่ย 2 เมตรนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างและอาคารประเภทต่างๆ ของวัดจำนวนร่วม 10 แห่ง แม้ว่าวัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงในเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่หากพิจารณาจากรูปแบบการก่อสร้างและลักษณะทางสถาปัตยกรรมต่างๆ แล้ว อนุมานว่าคงก่อสร้างเป็นวัดขึ้นแล้ว ตั้งแต่สมัยที่รัฐล้านนารุ่งเรือง (ยุคทอง) ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 21

สภาพโดยรวมของวัด จัดว่าเป็นวัดสำคัญของเวียงกุมกามแห่งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะปรากฏสิ่งก่อสร้างมากแห่ง เฉพาะอย่างยิ่งการขยายวัดสร้างอาคารประกอบ 2 หลังทางด้านหลังวัด และหลายหลังในแนวด้านข้างขวาของวัด (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) และเป็นวัดแห่งเดียวของเวียงกุมกาม ที่พบมณฑปลักษณะพิเศษที่มีโครงสร้างเสา 4 กลุ่มๆ ละ 4 ต้น พระเจดีย์มีส่วนฐานเขียงประดับเจดีย์เล็กที่มุมทั้งสี่ แท่นแก้วหรือฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน พบร่องรอยการตกแต่งลวดลายปูนปั้นในส่วนท้องไม้ บ่อน้ำในเขตบริเวณวัดพบมากถึง 4 แห่ง โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากการขุดแต่ง คือเครื่องเคลือบเนื้อขาว แบบลายครามสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) ของจีน ที่มีผู้นำมาบรรจุไหใบใหญ่ฝังไว้ในระยะที่วัดได้ร้าง และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้พังทลายลงไปแล้ว บริเวณด้านหลังมณฑปเสาสี่ต้น จำนวนถึง 43 ใบ (จากทั้งหมด 52 รายการ) ไหบรรจุกระดูก ที่พบฝังไว้ใต้กำแพงวัดด้านข้างซ้าย (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ใต้ประตูทางเข้า-ออก ลักษณะเคลือบสีเขียว และเคลือบสีน้ำตาล(หลุดร่อน) จานเครื่องเคลือบลายครามฝังตัวตะแคงซ้อนกันรวม 8 ใบในชั้นตะกอนทรายที่น้ำพัดพามาด้านหน้าโขงวัดฝั่งขวา แสดงถึงการร้างของเวียงกุมกามในลักษณะที่ผู้คนไม่ได้นำเอาข้าวของเครื่องใช้ติดตัวไป และประการสำคัญ เวียงได้ร้างลงไปนานระยะหนึ่ง ก่อนที่น้ำจะพัดพาตะกอนดินและทรายมาทับถม ประมาณช่วงเวลากลางพุทธศตวรรษที่ 22 ภายหลังจากที่พม่าเข้ายึดครองล้านนาได้แล้วระยะหนึ่ง


ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น
พระเจดีย์ของวัดหนานช้าง แม้ว่าจะเหลือหลักฐานการก่อสร้างเพียงส่วนฐานก่ออิฐฉาบปูนลักษณะเขียงซ้อนกัน 3 ชั้น และชั้นปัทม์ย่อเก็จเล็กเดี่ยวตอนกลางที่เหลือเฉพาะส่วนบัวคว่ำ และชั้นหน้ากระดานตอนล่าง แต่จากลักษณะและขนาดของชิ้นส่วนปล้องไฉนทรงกลม บัลลังก์และชั้นรองรับปล้องไฉนทรง 8 เหลี่ยม ที่พบร่วงหล่นตกลงมาบนพื้นระดับดินเดิมของวัดในพื้นที่ด้านหลังวิหารตอนขวา ทำให้วินิจฉัยได้ว่ารูปทรงเต็มๆ เดิมของเจดีย์ควรจะเป็นทรงระฆังแบบ 8 เหลี่ยม ประกอบกับการที่ไม่พบหลักฐานลวดลายปูนปั้น ประเภทลายกรอบซุ้มในจำนวนมากพอ ซึ่งโดยทั่วไปเจดีย์ทรงมณฑปมักทำซุ้มประกอบที่ตอนกลางในส่วนห้องมณฑป ลักษณะพิเศษที่พบของพระเจดีย์ประธานนี้ คือการทำเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กที่มุมฐานเขียงตอนล่างทั้ง 4 มุม ตกแต่งลายปูนปั้นนูนรูปดอกประจำยาม 4 ด้าน (เหลือร่องรอยหลักฐานเฉพาะองค์ที่อยู่ 2 มุมด้านหน้า) ตอนกลางติดกับฐานเขียงชั้นแรกของเจดีย์ เป็นที่ตั้งของแท่นบูชา ลักษณะฐานปัทม์ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเว้นทางด้านหน้าที่เป็นมณฑปโถงขนาดย่อม มีการทำย่อเก็จ 1 ชั้นในส่วนฐานรองรับเสามณฑปย่อเก็จ ที่ตอนบนมุมทั้ง 4 ยังมีร่องรอยหลักฐานของปูนฉาบรอบเสา ส่วนก่อสร้างตอนบนพังทลายหมด

พระวิหาร ลักษณะเป็นอาคารแบบโถงส่วนฐานก่ออิฐสร้างยกพื้นสูงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีย่อเก็จลดด้านหน้า 1 ชั้น โดยพบร่องรอยการฉาบปูนตกแต่งลายช่องกระจกหรือลายเมฆในส่วนท้องไม้ มีบันไดหลักขึ้นลงทางด้านหน้าตอนกลาง และพบบันไดขนาดเล็กด้านหลังตอนซ้าย ที่ยังคงปรากฏตัวหัวบันไดเป็นรูปตัวหางวัน (เหงา) ปูนปั้นอย่างชัดเจน พื้นตอนบนวิหารปูอิฐและฉาบปูน โครงสร้างเสาน่าจะเป็นเสาไม้ที่มีหินธรรมชาติรองตีนเสา แท่นแก้วพระประธานตอนหลังวิหาร ส่วนด้านหน้าทำย่อเก็จลดหลายชั้น ตกแต่งลวดลายเครือเถาและรูปสัตว์หิมพานต์ปูนปั้น (ชำรุด) ที่ส่วนท้องไม้
อาคารประกอบด้านหลังพระเจดีย์ คือมณฑป และอาคารวิหารเล็กนั้น มณฑปเป็นอาคารโถงก่ออิฐผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเป็นแบบปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่คู่ที่พบหลักฐานเฉพาะด้านข้างซ้าย ส่วนด้านอื่นๆเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนบัวคว่ำ และท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ตอนล่าง ประกอบการขุดแต่งได้ขุดเลยระดับพื้นมณฑปไปมากจนฐานเสาลอย ทำให้ดูเหมือนฐานมณฑปไม่สูง บันไดหลักอยู่ทางด้านหน้าที่พบหลักฐานตัวบันไดเป็นรูปตัวมกร (ชำรุด) และบันไดด้านหลังในส่วนของมุขด้านนี้ ที่มีทางขึ้นลงสองข้างติดกับส่วนฐานมณฑป โครงสร้างเสาที่มุมทั้งสี่ประกอบด้วยเสาทรง 4 เหลี่ยมมุมละ 4 ต้น เฉพาะด้านข้างตอนซ้ายที่อยู่ใกล้กับกำแพงวัดนั้น จากการทำงานขุดแต่ง พบการถมอัดดิน และปูอิฐในระดับลวดบัวตอนบนของส่วนบัวคว่ำ เช่นเดียวกับส่วนของฐานตอนหน้า ที่ก่ออิฐเสริมออกไปติดกับส่วนกำแพงวัด ลักษณะพิเศษจากการทำเสากลุ่มละ 4 ต้นนี้ วิเคราะห์ว่ามีความเชื่อมโยง กับการรับน้ำหนักมากของเครื่องหลังคาตอนบน ที่ควรจะเป็นโครงสร้างไม้ สร้างรองรับหลังคาสวยงามหลายชั้น

ส่วนอาคารวิหารเล็กนั้น ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐที่มีหลักฐานว่าสร้างทับซ้อนกันหลายสมัย โดยเฉพาะการสร้างต่อเติมทางด้านข้างขวา ซึ่งอาคารเดิมมีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จลดตอนหน้าชั้นเดียว ตกแต่งลายเป็นช่องปรุหลอกรูปกากบาท มีบันไดหลักขึ้นลงด้านหน้า และบันไดเล็กที่ด้านหลังตอนซ้าย ซึ่งจากหลักฐานหลังการขุดแต่ง ที่ไม่พบส่วนก่อเรียงอิฐของฐานด้านข้างซ้ายในส่วนของห้องใหญ่ แสดงถึงวัสดุก่อสร้างในส่วนนี้ ถูกรบกวนขนย้ายเคลื่อนที่นำออกไป โดยพบว่าน่าจะเป็นอิฐที่กองวางซ้อนเรียงกันเป็นแถว บนฐานก่ออิฐยกพื้นทางด้านหลังมณฑปติดกำแพงวัด และกองเป็นกลุ่มๆกระจัดกระจายอยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีระดับการวางตัว อยู่ตอนบนชั้นดินเดิมของวัด และบนเศษกระเบื้องดินขอมุงหลังคา อีกทั้งอยู่ใต้ชั้นตะกอนทรายทับถมจากน้ำพามา อันถือเป็นหลักฐานข้อมูลสำคัญต่อการวิเคราะห์ได้ว่า บริเวณวัดหนานช้างแห่งนี้ และรวมไปถึงพื้นที่ของเวียงกุมกามโดยรวมทั่วไปนั้น ได้ถูกน้ำท่วมใหญ่ที่พาเอาตะกอนดินกรวดทราย มาทับถมในระยะหลังจากที่วัดถูกทิ้งร้างลงไประยะหนึ่งแล้ว จากหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้พังทลายตกลงมากองอยู่โดยรอบส่วนฐาน ก็ได้มีการรื้อเอาอิฐในส่วนฐานด้านข้างตอนซ้ายของอาคารวิหารเล็กหลังนี้ ออกมากองรวมกันไว้ดังกล่าว เช่นเดียวกันการพบไหใบใหญ่ ข้างในบรรจุภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยลายคราม จำนวนถึง 43 ใบ

ส่วนอาคารประกอบด้านข้างขวาพระวิหารนั้น พบหลักฐานการสร้างแบบยกพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐของศาลาโถง และอาคารรูปยาวขนานไปกับตัววิหารแบ่งเป็นห้องๆ ซึ่งยังไม่ทราบถึงประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจน เพราะพบเพียงส่วนฐาน มีบางห้องมีผนังก่ออิฐ บางห้องมีส่วนใต้ถุนเพราะพบแท่นบันไดก่ออิฐ และมีอาคารห้องสี่เหลี่ยมมีผนังก่ออิฐขนาดเล็กด้านหลัง นั้น ในพื้นที่ส่วนนี้ได้พบบ่อน้ำก่ออิฐทรงกลมด้านหน้า 1 บ่อ และด้านหลัง 1 บ่อ อันทำให้พิจารณาได้ว่าน่าจะเป็นอาคารที่พักหรือกุฏิสงฆ์ เช่นเดียวกับบริเวณด้านหน้าวัดตอนขวาเขตนอกกำแพงวัด ที่พบหลักฐานบ่อน้ำและเศษภาชนะดินเผาหนาแน่น โดยเฉพาะประเภทครก-สาก อีกทั้งพบสิ่งก่อสร้างทรงกระบอกกลมคล้ายเสาก่ออิฐ ที่ยังไม่ทราบประโยชน์การใช้งานชัดเจน (ฝังตัวในผนังแสดงการวางตัวชั้นดินการ)

ที่มา http://culture.mome.co/watnanchang/

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่