วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำหลวง)

ประวัติความสำคัญ
จากหลักฐานด้านเอกสารตำนานและพงศาวดารกล่าวถึงวัดนี้ว่า แต่เดิมชื่อวัดกู่คำ  กู่ หมายถึง พระเจดีย์  คำ หมายถึง ทองคำ ที่พญามังรายปฐมกษัตริย์ของแคว้นล้านนาทรงโปรดให้ก่อสร้างสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๑ ตามข้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพงศาวดารโยนกตรงกันดังนี้  เจ้ามังรายจึงหื้อไปเอาดินหนองต่าง มาก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกาม ให้เป็นที่บูชาแก่ชาวเมืองทั้งหลาย เมื่อจุลศักราช ๖๕๐ (พ.ศ.๑๘๓๑) ปีชวด สัมฤทธิศก   โบราณวัตถุสถานสำคัญของวัด คือองค์พระเจดีย์ประธานรูปทรงมณฑปลด ๕ ชั้น มีลักษณะเดียวกันกับ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ที่จัดเป็นรูปแบบเจดีย์ในระยะแรกๆของแคว้นล้านนา โดยได้รับอิทธิพลจากแคว้นหริภุญไชย แต่ในสภาพปัจจุบันได้รับการซ่อมบูรณะในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยพญาตะก่า-หม่องปันโยที่ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงโยนการวิจิตร ต้นสกุลพระราชทาน อุปโยคิน ผู้เป็นคหบดีค้าไม้ชาวพม่า ที่ได้รับช่วงสัมปทาน ตัดชักลากไม้สักในเขตภาคเหนือของบริษัทบอมเบย์-เบอร์มาร์ และบริษัทบอร์เนียวในสมัยตอนปลายรัชกาลที่ ๕ และตั้งบ้านเรือนใช้เป็นที่ทำการด้วยที่หัวฝายท่าวังตาล บนฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง หรือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเขตละแวกใกล้เคียงกันกับวัด วัดนี้มีความโดดเด่นหรือเอกลักษณ์อยู่ตรงที่ เป็นวัดกษัตริย์สร้าง มีรูปแบบเจดีย์ที่แสดงอิทธิพลรูปแบบของรัฐหริภุญไชย โดยที่พญามังรายโปรดให้เอามาก่อสร้างไว้ในเวียงกุมกามระยะแรกๆ

ที่ตั้ง
วัดเจดีย์เหลี่ยม ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ ๑ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทางประมาณ ๕ กม. การเดินทางเข้าถึงโดยเส้นทางถนนสายเกาะกลาง-หนองหอย มีแนวเลียบบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ปัจจุบันเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษา และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ ๙๗  ตอนที่ ๔๑  ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓ มีโบราณสถานสำคัญที่ขึ้นทะเบียนคือเจดีย์กู่คำ วิหาร และอุโบสถ ขอบเขตโบราณสถานมีเนื้อที่รวม ๑ ไร่ ๘๓ ตารางวา สภาพแวดล้อมของวัดโดยทั่วไปมีแนวสายน้ำแม่ปิง อยู่ใกล้เคียงทางด้านตะวันตก โดยรอบเป็นชุมชนบ้านเรือนอาศัยอยู่กระจัดกระจาย มีร้านค้าย่อยและสถานประกอบการธุรกิจ บริการไม่หนาแน่น โดยเฉพาะตามเส้นทางแนวถนนสายเกาะกลาง-หนองหอย ที่ผ่านวัดทางทิศเหนือและตะวันตก ทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นเขตบ้านเรือนและสวนลำไยของเอกชน ตำแหน่งที่ตั้งวัดปัจจุบันอยู่ในบริเวณพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงกุมกาม วัดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง คือวัดพญามังราย-พระเจ้าองค์ดำ (ร้าง) และวัดธาตุขาว (ร้าง) ทางตะวันออกเฉียงใต้

ผังรูปแบบการก่อสร้างวัด
วัดสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในวัดประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆคือ เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือตอนหน้าพระวิหาร กุฏิพระสงฆ์หลังใหญ่และศาลาโรงครัวไฟทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และด้านใต้พระวิหารห่างออกมา บริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของวัด เป็นที่ตั้งของกุฏิพระสงฆ์และอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด ขอบเขตวัดแวดล้อมด้วยกำแพงวัดทั้ง ๔ ด้าน มีทางเข้า/ออกหลักทางด้านหน้าและด้านหลังของวัด

ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในบริเวณวัด คือพระเจดีย์ประธาน ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญ แสดงถึงการรับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างพุทธศาสนสถาน จากแคว้นหริภุญไชยในระยะแรกๆของการก่อตั้งแคว้นล้านนา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปสี่เหลี่ยมลด ๕ ชั้นคล้ายทรงปิรามิด สร้างก่ออิฐฉาบปูนขาว ฐานล่างเป็นแบบเขียงสี่เหลี่ยมใหญ่ (เฉพาะตอนล่างก่อด้วยศิลาแลง) ล้อมรอบด้วยขอบเขตกำแพงแก้วทั้ง ๔ ด้าน  ขนาด ๑๗.๔๕ x ๑๗.๔๕ เมตร ที่มุมฐานเขียงทั้ง ๔ ตั้งประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวรูปสิงห์ นั่งชันขาหน้าหันหน้าเหลียวออก ตอนกลางระหว่างสิงห์แต่ละด้านสร้างเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางต่างๆในศิลปะแบบพม่า-พุกาม ที่นิยมทำซุ้มประกอบด้านข้างซ้ายและขวา ตกแต่งกรอบและเสาซุ้ม ด้วยลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา แบบก้านดอกใบเกี่ยวสอดลอยตัว และลายตาผ้านูนต่ำ เครื่องยอดของซุ้มทำเป็นแบบเจดีย์จำลองลดชั้นทรงสี่เหลี่ยม ๓ ชั้น รองรับส่วนปลียอดลักษณะบัวทรงสี่เหลี่ยม ยอดประดับฉัตรโลหะลายฉลุปิดทอง  สันหลังคาด้านหลังมีเครื่องยอดตกแต่ง เป็นครีบรูปสามเหลี่ยมปั้นปูนเป็นลายใบไม้-ดอกไม้ ตัวมณฑปก่อสร้างเป็นชั้นของห้องสี่เหลี่ยมบนชั้นย่อเก็จบัวคว่ำและหน้ากระดานท้องไม้ลูกแก้ว จำนวน ๕ ชั้น ขนาดลดหลั่นกันขึ้นไป  มณฑปแต่ละชั้นทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางต่างๆ ด้านละ ๓ ซุ้ม  รวมทั้งหมด ๖๐ ซุ้ม ที่กรอบซุ้มตกแต่งลายปูนปั้นแบบพรรณพฤกษาเกี่ยวสอด และแบบพญานาค ๒ ตัวหางพันกันสลับชั้นกันขึ้นไป  มุมตอนบนทั้ง ๔ ของมณฑปแต่ละชั้นประดับเจดีย์จำลอง ตกแต่งลายปูนปั้นยอดประดับฉัตรโลหะ รวมจำนวน ๒๐ องค์ ส่วนเครื่องยอดขององค์เจดีย์เป็นแบบบัวสี่เหลี่ยม ๒ ตอน คั่นด้วยชั้นลูกแก้ว รองรับส่วนปลีสี่เหลี่ยม ที่ตกแต่งลายปูนปั้นประดับด้วยกระจกเคลือบตะกั่วสี (แก้วอั่งวะ) ในส่วนต่างๆ ส่วนยอดสุดประดับฉัตรฉลุโลหะปิดทอง

ที่มา wiangkumkam.com

เทรนด์
กันยายน 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่