วัดทรายมูลเมือง

ประวัติความเป็นมา วัดทรายมูล

วัดทรายมูลสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ในราว พ.ศ. ๒๐๓๐ ในขณะนั้นวัดนี้มีชื่อว่า อารามบ้านปะ ซึ่งเป็นชื่อที่เกิดจากลักษณะที่ตั้งของวัด อันเป็นบริเวณที่สายน้ำอันมีต้นกำเนิดจากดอยสุเทพไหลบรรจบกัน ซึ่งภาษาเหนือการมาบรรจบกันนั้น ใช้คำว่า ปะ จึงเป็นที่มาของชื่อ อารามบ้านปะ ต่อมา อารามบ้านปะ ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดทรายมูลเมือง ทั้งนี้คงสืบเนื่องจากบริเวณวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการขุดดินเพื่อนำมาปั้นเป็นก้อนอิฐ นำไปก่อกำแพงเมืองชั้นในของเชียงใหม่ จนทำให้ที่บริเวณนี้กลายเป็นหนองน้ำ ที่ต่อมามีทรายพูนขึ้นเรื่อยๆ จนมีการเรียกชื่อหนองน้ำนี้ว่า หนองทรายมูล จากการศึกษาเบื้องต้นเรื่องคุณค่าความสำคัญของวัดทรายมูลเมือง พบว่าวัดนี้ยังตั้งอยู่ในบริเวณที่ถือเป็น อุตสาหะเมือง อันหมายถึง อุตสาหกรรมของเมือง ซึ่งเป็นแนวคิดตามความเชื่อโบราณในการสร้างเมือง ที่โหราจารย์ คิดหาฤกษ์ยามในการสถาปนาเมือง และเชื่อว่า เมืองนั้นก็มีชีวิตเช่นเดียวกับคน เมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นมาก็เหมือนกับการให้ชีวิตเมืองด้วย เมืองนั้นมีส่วนต่างๆ เหมือนคน มีหัว มีตัว มีสะดือ และส่วนต่างๆ อยู่ตามทิศทั้ง ๘ รวมถึงมีดวงชะตาชีวิตเหมือนคน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีทิศของดวงต่างๆ ไม่เหมือนกัน เมื่อใดเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับเมือง หรือเกิดภัยพิบัติจะต้องมีการสืบชะตาเมืองเหมือนกับคนด้วย

ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น วัดทรายมูล

หอพระไตรปิฎกครึ่งปูนครึ่งไม้โบราณ อายุราว ๗๖ ปี เป็นมรดกที่หลงเหลืออยู่ของเมืองหอไตรหลังนี้สร้างเพื่อเป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลาน ซึ่งแต่เดิมสร้างอยู่กลางหนองทรายมูล แต่เมื่อบ้านเมืองพัฒนา และสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์ได้มาขอพื้นที่เพื่อสร้างสถานสงเคราะห์ ทางวัดจึงได้ย้ายหอไตรมาอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของวิหารในปัจจุบัน ขุนอุปติพงษ์ ได้เป็นแกนนำในการนำศรัทธาชาวบ้านร่วมกันสร้างหอพระไตรปิฎก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ลวดลายบนหอไตรนั้น เป็นการสร้างโดยช่างชาวไทย และชาวพม่าช่วยกันทำขึ้นมา เป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ งดงาม และหาได้ยากในยุคสมัยปัจจุบัน

พระประธานภายในวิหารเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีความสูงประมาณ 69 นิ้ว หน้าตัก 48 นิ้ว

ที่มา templeofchiangmai.weebly.com

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่