ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บ้านปางควาย หมู่ที่ 9 ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงพระสุวรรณพิงคารหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ.. ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นอนุสรณ์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ได้ทรงเสียสละในการกอบกู้เอกราชให้เราเป็นไทยมาจนถึงทุกวันนี้..


ประวัติการสร้างข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อปี พ.ศ. 2544 ว่าที่ ร.ต.อดิศวร นันทชัยพันธ์ นายอำเภอเวียงแหงคนที่ 5 เป็นผู้ริเริ่มออกแบบและก่อสร้าง เพื่อให้เป็นศูนย์รวมใจของประชาชนและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ด้านขวัญกำลังใจของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใน อำเภอเวียงแหง ซึ่งติดชายแดนพม่ายาวกว่า 30 กิโลเมตร และที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จประนเรศวรมหาราช ได้มาพักทัพสมัยศึกอังวะเมื่อปี พ.ศ. 2148 พระองค์เกิดประชวรและสวรรคตที่เมืองแหง ตามหลักฐานมหาราชวงศ์พงศาวดารของพม่าบันทึกไว้อย่างชัดเจนดังนี้ " ครั้งจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศทรงเสด็จยกทัพ 20 ทัพ มาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้งเสด็จถึงเมืองแหน แขวงเมืองเชียงใหม่ ก็ทรงประชวรในเร็วพลัน ก็สวรรคตในที่นั้น " "เมืองแหง" กับ "เมืองแหน" เป็นเมืองเดียวกัน


ปัจจุบันยังมีคนอ่านคำว่าเวียงแหงผิดเพี้ยนไปหลายรูปแบบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2545 เวลา 09.39 น. ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ โดย นายพยูณ มีทองคำ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีและอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้เกียรติมาเป็นประธาน ทุนการก่อสร้างเริ่มแรกได้จากคณะศิษย์เก่าโรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน รุ่น 2504 ข้าราชการฝ่ายปกครองอำเภอเวียงแหง และผู้จงรักภัคดีร่วมใจกัน โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการแต่อย่างใด


ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 พลโทพิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ทอดผ้าป่า มหากุศ 17 จังหวัดภาคเหนือ สมทบการก่อสร้างพลับพลาจตุรมุข ที่ประดิษฐานพระบรมรูปและพระสยามเทวาธิราชไม้สักจนแล้วเสร็จ เป็นโครงการเทิดพระเกียรติ ครบ 400 ปี แห่งการสวรรคต รวมเป็นเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 3.9 ล้านบาทเศษ

ที่มา ข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช | เวียงแหง.com (wianghaeng.com)

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่