โบราณสถาน สันกู่ (ดอยสุเทพ-ดอยปุย)
- ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50200
-
- เปิดทุกวัน 06:00-18:00
- #โบราณสถาน
-
ตำแหน่งจีพีเอส : 18.8149135, 98.8949409 (เปิดแผนที่บน Google Map) | เปิดพิกัดปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ.2526 หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ ได้ขุดแต่งบูรณะซากโบราณสันกู่ ในการทำงานครั้งนั้น เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงทราบฝ่าละอองพระบาทว่า โบราณสถานแห่งนี้ถูกขุดทำลายเป็นเวลานานแล้ว สมควรให้กรมศิลปากรสำรวจและบูรณะให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี สภาพก่อนการขุดแต่ง เป็นเนินโบราณสถานที่ต้นไม้หนาแน่น เมื่อขุดลอกดินที่ทับถมออก พบซากเจดีย์และฐานวิหาร ได้ขุดลอกหลุมที่เกิดจากการลักลอบขุดที่ตรงกลางฐานเจดีย์ในระดับความลึก 5.30 เมตร พบโบราณวัตถุในกรุที่สำคัญ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปศิลปะแบบหริภุญไชย พระพิมพ์ดินเผาศิลปะแบบหริภุญไชย เศษเครื่องปั้นดินเผาเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กของจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) และการขุดแต่ส่วนอื่นพบเศษเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง สันนิษฐาน โบราณสถานสันกู่มีอายุระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 19-22
ที่มา "สันกู่" โบราณสถานเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บน "ยอดดอยสุเทพ" ด้วยแรงศรัทธา - GotoKnow
โบราณสถาน “สันกู่” บนยอดดอยปุย : พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีวาสุเทพน้อยคนที่จะทราบว่า บนยอดดอยที่สูงเหนือกว่าดอยสุเทพ เมืองเชียงใหม่ขึ้นไปอีก มีซากโบราณสถานแห่งหนึ่งชื่อว่า “สันกู่” มีอายุเก่ากว่าพระธาตุดอยสุเทพ และเก่าแก่กว่าโบราณสถานใดๆ ในพื้นที่แถบเชิงดอยสุเทพ
แต่ปัญหามีอยู่ว่า โบราณสถานแห่งนี้ คืออะไร? ทำไมจึงถูกสร้างบนยอดดอยสูงและไกลเช่นนั้น
ดอยสุเทพนั้นเป็นชื่อที่เรียกตามนามของพระสุเทวฤาษีหรือพระฤาษีวาสุเทพ ซึ่งในอดีตได้เคยมาอยู่บำเพ็ญตะบะอยู่ ณ ภูเขาแห่งนี้
ซึ่งบริเวณเชิงดอยสุเทพมีเมืองโบราณเวียงเจ็ดลิน ตามตำนานกล่าวว่าเป็น เมืองเชษฐะบุรี ซึ่งเป็นชุมชนของชาวลัวะ
การศึกษาที่ผ่านมาพบหลักฐานโบราณสถานและวัตถุสมัยหริภุญไชย ที่แสดงให้เห็นว่าเวียงเจ็ดลิน เป็นชุมชนโบราณที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘
ต่อมาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พระญากือนา กษัตริย์ล้านนา โปรดฯให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนยอดดอยสุเทพด้วยเหตุนี้ดอยสุเทพจึงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเคยเป็นทั้งที่อยู่ของพระฤาษีวาสุเทพ และเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมธาตุดอยสุเทพแต่บนยอดดอยปุย ที่อยู่สูงเหนือดอยสุเทพขึ้นไปอีก มีศาสนสถานเก่าแก่ที่มีเรียกกันทุกวันนี้ว่า “สันกู่”
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ หน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนรับผิดชอบเป็นหัวหน้าหน่วยงาน) ได้ขุดค้นศึกษาและบูรณะโบราณสถานสันกู่ ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องจากถูกขุดค้นทำลาย
ผลการดำเนินการพบชิ้นส่วนพระพิมพ์ดิน ศิลปะหริภุญไชย จำนวนหนึ่ง ร่วมกับซากเจดีย์และวิหาร ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ ซึ่งยืนยันว่าโบราณสถานแห่งนี้ เป็นพุทธสถานในสมัยหริภุญไชย
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมโบราณสถานสันกู่ จึงไปปรากฏอยู่บนยอดดอยสูงเช่นนั้น? โดยเฉพาะในสมัยหริภุญไชย
ในที่นี้ผู้เขียนสันนิษฐานและตีความว่า
บริเวณพื้นที่ตั้งของโบราณสถานสันกู่ คงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยเป็นอาศรมหรือสถานที่เกี่ยวข้องกับพระฤาษีวาสุเทพในความเชื่อของชาวลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพ
ทั้งนี้ในตำนานกล่าวว่า ลัวะเป็นกลุ่มชนที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์ที่ฤาษีวาสุเทพได้ให้อยู่อุปัฏฐากตนและสร้างให้อยู่ในบริเวณตีนดอยสุเทพ ดังนั้นจึงได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นในสมัยหริภุญไชย
ต่อมาพระญากือนาประสงค์ที่จะอัญเชิญให้พระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปประดิษฐานบนยอดดอยปุย ซึ่งเป็นยอดดอยสูงสุดและเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์(สันกู่)แห่งนี้ แต่เนื่องจากช้างที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปถึงบริเวณยอดดอยแห่งหนึ่งและสิ้นชีวิต จึงถือเป็นนิมิตรหมาย โปรดฯให้ประดิษฐานพระบรมธาตุบนยอดดอยแห่งนั้น คือ พระธาตุดอยสุเทพ
นับแต่นั้นมาพระธาตุดอยสุเทพ จึงเป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระธาตุเจดีย์องค์เดิมบนดอยปุย(โบราณสถานสันกู่) ลดความสำคัญลง และค่อยๆลืมเลือนหายไปจากความทรงจำ แม้กระทั่งชื่อที่แท้จริงก็ยังไม่ปรากฏในเอกสารใดๆ
เท็จจริงจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและความเชื่อ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ “สันกู่” แห่งนี้ ถือเป็นโบราณสถานสำคัญที่มีอายุเก่าแก่กว่าแห่งใดๆ ในพื้นที่แถบเชิงดอยสุเทพแห่งนี้.
Cr. อ.สุรพล ดำริห์กุล