วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิทยาเขตเชียงใหม่
  • ฝ่ายบริหาร โทรศัพท์ 053-222-798
  • ฝ่ายฝึกอบรม โทรศัพท์  053-408-845

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 อนุมัติในหลักการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้จัดตั้งสถาบันหรือศูนย์ฝึกอบรมการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย หรือโรงเรียนดับเพลิงขึ้น เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 และเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 มีภารกิจในการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติ และได้จัดตั้งวิทยาเขตวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นการให้บริการทางวิชาการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร และประชาชน โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติกับองค์กร หรือสถาบันที่มีความชำนาญเฉพาะทาง เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้


                 1. ประเทศญี่ปุ่น จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือมาช่วยค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สินามิที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจรัฐบาลญี่ปุ่นได้ฝึกอบรมการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการค้นหา/กู้ภัย ให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและได้มอบเครื่องมืออุปกรณ์ในการค้นหาและกู้ภัยให้วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไว้ใช้ฝึกอบรมทีมค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดต่าง ๆ หลังจากนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีโอกาสต้อนรับปลัดทบวงการบริหารอัคคีภัยและสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารของญี่ปุ่น (Fire and Disaster Management Agency, Ministry of Internal Affairs and Communication : FDMA) โดยได้ลงนามร่วมกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการที่จะสนับสนุนทางวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาในการจัดทำหลักสูตรคู่มือการฝึกอบรม  และจัดส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมในการฝีกอบรมประจำอยู่ที่วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย


                2. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี ได้มีการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของประเทศเยอรมนี (Gesellschaft fur Technische Zusammenarbeit : GTZ) ให้การสนับสนุนเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาบุคลากรของวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสนับสนุนพัฒนาด้านหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่และการผลิตวิทยากร รวมทั้งคู่มือในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ และดินโคลนถล่ม เป็นต้น


              3. ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ลงนามลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Cent : ADPC) ในการสนับสนุนทางวิชาการและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยฝึกอบรมวิทยากรและสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การฝึกอบรมให้แก่วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย


          การจัดตั้งวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวิทยาเขต ไปตามส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ช่วยเป็นหน่วยบูรณาการเชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้ได้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการประจำในวิทยาเขตแห่งละประมาณ 15 คน การบริหารวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวิทยาเขต เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2548 โดยวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินงาน และให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวิทยาเขต เป็นผู้กำกับ ดูแล การบริหารจัดการภายในและการฝึกอบรม ดังนี้


  1.  วิทยาเขตปราจีนบุรี ให้การฝึกอบรมหลักสูตรการระงับอัคคีภัยในเมือง การกู้ภัยอาคารถล่ม การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  2.  วิทยาเขตเชียงใหม่ ให้การฝึกอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมประชาชนจากภัยแผ่นดินไหว  อุทกภัย  วาตภัย  และโคลนถล่ม และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  3.  วิทยาเขตขอนแก่น  ให้การฝึกอบรมหลักสูตรการระงับอัคคีภัย การกู้ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย อุบัติภัยจากการจราจรทางถนน และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  4. วิทยาเขตสงขลา ให้การฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัคร และองค์กรประชาชน และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  5. วิทยาเขตภูเก็ต ให้การฝึกอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมประชาชนจากภัยแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ และการกู้ภัย อาคารถล่ม และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  6. วิทยาเขตพิษณุโลก ให้การฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานดับเพลิง และหลักสูตรอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ที่มา Minisite 2 (disaster.go.th)

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่