ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูน

ประวัติความเป็นมาศาลหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูน

ศาลหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งอยู่ระหวั่งหมู่ที่ 5 บ้านปากกอง ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใมห่ และหมู่ที่ 1 บ้านอุโมงค์ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เดิมเป็นที่ตั้งของวัดร้าง ชื่อว่า "วัดนางเหลียว" ปัจจุบันยังปรากฎซากอิฐ ซากปูนของบริเวณซึ่งเป็นแนวเขตกำแพง ฐานวิหาร และเจดีย์วัด แต่ว่าอยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1 เมตรเศษ

ความเป็นมาจากการบอกเล่าของผู้สูงอายุและผู้รู้ทั้งหลายที่อยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่เด็กๆ สรุปพอสังเขปได้ว่า "เริ่มต้นจากเจ้าหลวงเมืองลำพูนขณะนั้น ชื่อ เจ้าอนันตยศ และเจ้ามหันตยศ ได้เดินทางจากเมืองลำพูนขึ้นมาทางทิศเหนือ เพื่อต้องการหาแนวเขตแดนสิ้นสุดของเมืองลำพูน ซึ่งเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้นั่งช้างพัง ชื่อ ช้างปู้ก่ำงาเขียว และขณะนั่งช้างมานั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่ช้างปู้ก่ำงาเขียวได้หยุดพักยังบริเวณวัดร้าง คือ วัดนางเหลียว แห่งนี้ ไม่ยอมเดินทางต่อ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหลวงเมืองลำพูน จึงกำหนดให้เลือกบริเวณวัดร้างแห่งนี้ เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้ใช้ไม้เนื้อแข็งปักเป็นเขตแดนไว้ ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านทั้งสองจังหวัด เรียกว่า “เสาแดนเมืองระหว่างเชียงใหม่และลำพูน”

ต่อมาเสาแดนเมืองฯได้เกิดการผุกร่อนเนื่องจากถูกแดด ถูกฝน เจ้าหลวงฯจึงสั่งให้เกณฑ์นักโทษจากเมืองลำพูนจำนวนหนึ่งให้มาช่วยก่อสร้าง โดยใช้วัสดุ คือ “ดินเผาและปูนขาวมาโบกแทนหลักไม้เนื้อแข็งเดิม" แล้วให้เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า “หลักเขตแดนเมืองเชียงใหม่-ลำพูน” ต่อจากนั้นก็สั่งให้นักโทษนำกล้าต้นไม้ คือ “ต้นขี้เหล็ก” มาปลูก เริ่มจากบริเวณเขตแดนของเฉพาะเมืองลำพูน โดยปลูกทั้งสองฝั่งถนนเพื่อแสดงให้รู้ว่า "ฝั่งถนนที่เป็นต้นขี้เหล็ก คือ เขตของเมืองลำพูน ส่วนเมืองเชียงใหม่ ก็มีการปลูก “ต้นยางนา” เป็นสัญลักษณ์ ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้"

จากนั้นเป็นต้นมา พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณทั้งสองฝั่ง คือ เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันบูรณะ ซ่อมแซม ตกแต่งภูมิทัศน์ พร้อมมีการสร้างศาลาสามัคคีฯ และอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน คือ “พระศรีสองเมือง” และที่สำคัญ มีการทำพิธีปั้นรูปช้างที่เจ้าหลวงลำพูนใช้เป็นพาหนะเดินทางคือ “ช้างปู้ก่ำงาเขียว” ซึ่งจะเห็นปรากฎโดดเด่นใกล้กลับเสาหลักเมืองฯ

ที่มา : ป้ายประชาสัมพันธ์ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่-ลำพูน

ศาลหลักเมืองเป็นสถานที่สำคัญ ที่ชาวอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่และชาวตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน ให้ความเคารพ เมื่อเดินทางสัญจรผ่าน ถนน 106 สายเชียงใหม่ลำพูน บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอสารภีและอำเภอเมืองลำพูนซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง จะแสดงความเคารพด้วยการบีบแตรหรือยกมือไหว้ และมีผู้แวะมากราบไหว้ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่เสมอ

     ในทุก ๆ ปี ชาวอำเภอสารภีจะร่วมกันจัดงานประเพณีทำบุญศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณแห่งนี้ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 12 เมษายน ของทุกปี เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลปกปักรักษาพื้นที่และเพื่อรำลึกถึงพระคุณของบรรพชนที่สร้างบ้านแปงเมืองสารภีในอดีต ในวันงานประชาชนอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่และประชาชนตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จะร่วมกันทำความสะอาด ตกแต่งสถานที่ และเตรียมเครื่องบวงสรวง เครื่องสืบชะตาเมือง เครื่องสระเกล้าดำหัวผู้สูงอายุ โดยจะมีการทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่แบบล้านนา พิธีผูกผ้าเสาหลักเมืองพิธีผูกผ้าพระสถูปเจดีย์ พิธีเปลี่ยนผ้าอังสะพระศรีสองเมือง พิธีเปลี่ยนผ้าหลังช้างและคล้องมาลัยช้างปู้ก่ำงาเขียว ช้างเล็กบริวาร รวมถึงมีการทำพิธีกรรมทางศาสนา และมหรสพการแสดงทางวัฒนธรรม

ที่มา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ : Chiangmai Culture Office

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่