พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

       ณ ดินแดน ที่เป็นเสมือนทิพย์วิมาน ในเทพนิยาย หรือ สวรรค์บนพื้นแห่งพิภพยามเช้าในฤดูหนาว กลุ่มสายหมอกจะลอยพาดผ่านยอดดอยแห่ง พระตำหนักฯ หมู่มวลดอกไม้นานาพันธุ์ จะคลี่กลีบดอกงามรับสายหมอกและท่ามกลางแสงแห่งตะวัน ดอกกุหลาบหลากสีต่างเบ่งบาน กลีบอันสดใส ดูแล้วงดงามซึ่งยากยิ่งในอันที่จะพบได้จากที่แห่งใด ในผืนแผ่นดินไทย นอกจาก ณ พระตำหนักแห่งนี้ “พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์”

       พระราชนิเวศน์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๗๓.๑๙๗ เมตร ในเนื้อที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ ๔๐๐ ไร่ นั้น แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมประมาณ ๒๐๐ ไร่ คำว่า “ดอยบวกห้า” เป็นชื่อเรียก ตามคำพื้นเมือง ดอยหมายถึงภูเขา บวกหมายถึงหนองน้ำ ห้าหมายถึงต้นหว้า หมายความว่า ที่ยอดดอยแห่งนี้มีหนองน้ำอุดมไปด้วยต้นหว้าขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำนั้น


       พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ และพระราชทานนาม พระตำหนักองค์นี้ว่า ภูพิงคราชนิเวศน์โดยทรงเลือกจาก หนึ่งใน ๒ ชื่อ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์” พระตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือรวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่างๆ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงามอีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้


       พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่”มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทยภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะตั้งอยู่คนละด้าน มีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง ออกแบบแปลนโดยหม่อมเจ้า สมัยเฉลิมกฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร ออกแบบรูปด้าน โดยหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรีและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการก่อสร้าง โดยมีหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี และนายประดิษฐ์ ยุวพุกกะจากกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเป็นผู้ช่วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกหลวงกัมปนาทแสนยากร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการวางศิลาฤกษ์พระตำหนักเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๔๙ นาที


       การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา ๕ เดือนก็แล้วเสร็จ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นทั้งสถาปนิก และมัณฑนากรออกแบบ ตกแต่ง ภายในพระตำหนักทั้งในส่วนที่ประทับและส่วนที่ใช้รับรอง พระราชอาคันตุกะทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นแบบไทยประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น และได้ใช้พระตำหนัก ในการรับรอง พระราชอาคันตุกะเป็นครั้งแรกคือ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ ๙ และ สมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. ๒๕๐๕ หลังจากนั้นก็มีประมุขของประเทศต่าง ๆ เป็นพระราชอาคันตุกะมาประทับและพักที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ ในเวลาต่อมา อีกหลายประเทศ เช่น สมเด็จพระนางเจ้าจูเลียน่าและเจ้าชายเบอร์ฮาร์ท จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และพระราชินีฟาบิโอล่าแห่งประเทศเบลเยี่ยม ฯลฯ เป็นต้น ส่วนตัวอาคารอื่น ๆ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

ที่มา royaloffice.th

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่