บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท


เมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินของประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM จึงถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้เสีย หรือ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan : NPL) โดยรับโอนจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีภาระหนี้ตามบัญชี (Outstanding per book : OPB) ในขณะนั้นรวม 519,378 ล้านบาท ด้วยเงินทุนจดทะเบียนครั้งแรก 25 ล้านบาท โดย    มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ในปี 2544 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 (พรก. บสท.) 

กำหนดให้ บสส.ต้องโอน NPL ซึ่งมีภาระหนี้ตามบัญชี จำนวน 309,089 ล้านบาทให้แก่ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ต่อมาในวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 กองทุนฯ ได้มีมติให้ บสส. รับโอนกิจการของบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด (บสพ.) โดยให้ บสพ. ขายลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แล้วโอนสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันที่เหลือทั้งหมด ให้แก่ บสส. หลังจากนั้นนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา บสส. ได้ดำเนินการซื้อ NPL และทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets : NPA) จากสถาบันการเงินอื่นเพื่อมาบริหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ประมูลซื้อ NPL และ NPA จาก บสท. ในปี 2555 เนื่องจาก บสท. ต้องปิดดำเนินการตามเวลาที่ พรก.บสท.กำหนดไว้ ต่อมา บสส. เริ่มเปิดที่ทำการสำนักงานสาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสาขาแรกเมื่อปี 2550 และทยอยเปิดสาขาเพื่อเป็นศูนย์บริการลูกค้าทุกภูมิภาคของประเทศ ในปี 2555 รวม 4 สาขา คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก


ในปี 2560 ธนาคารแแห่งประเทศไทย ริเริ่มโครงการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยในการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงมีการจัดตั้ง “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน” หรือเรียกว่า “คลินิกแก้หนี้” โดยตกลงร่วมกันแต่งตั้ง บสส. เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายให้ได้ข้อยุติในคราวเดียว ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง และบสส. ยังทำหน้าที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่ประชาชนอีกด้วย ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารแห่งประเทศจีน และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ที่มา sam.or.th

เทรนด์
กันยายน 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่