วัดอีก้าง


ประวัติความเป็นมา
ไม่ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารกล่าวถึงวัดนี้ แต่เข้าใจว่าต้องเป็นวัดสำคัญมากแห่งหนึ่งของเวียงกุมกาม เพราะว่าสิ่งก่อสร้างภายในบริเวณวัด ล้วนมีขนาดใหญ่ทั้งพระวิหารและเจดีย์ประธาน อีกทั้งการที่ที่ตั้งของวัดอยู่ในเขตกึ่งกลางเวียง จึงอาจเข้าลักษณะคติการสร้างวัดมหาธาตุประจำเมือง ที่เรียกชื่อวัดว่าวัดอีค่าง เนื่องมาจากแต่เดิมที่บริเวณวัดมีสภาพเป็นป่ารกร้างนั้น ได้มีฝูงค่างใช้ซากวัดร้างแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งค่างในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า อี่ก้าง (นางค่าง) ชาวบ้านจึงเรียกวัดร้างแห่งนี้ว่าวัดอี่ก้างกันสืบต่อกันมา


ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น
ผังบริเวณวัดประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆคือ เจดีย์ประธาน ที่ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร วัดสร้างหันหน้าไปทางทิศเหนือที่เดิมเป็นเส้นทางการไหลของแม่น้ำปิง จากการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.2528 พบหลักฐานของฐานอาคารฝังตัวอยู่ใต้ระดับดินเดียวกับวิหาร ทางด้านทิศตะวันออกใกล้กับวิหาร ปัจจุบันขุดแต่งแล้วบางส่วน เช่นเดียวกับกำแพงวัดที่ขุดตรวจพบใหม่ในปี พ.ศ.2546 และซากฐานเจดีย์รายก่ออิฐฐานทรง 8 เหลี่ยม และอาคารฐานก่ออิฐ ในปี พ.ศ.2547 (ปัจจุบันยังไม่ได้ขุดแต่งอย่างครอบคลุมพื้นที่ของวัดเดิมทั้งหมด)
วิหาร ขนาดใหญ่ (ฐานเฉลี่ย 13.50 x 20.00 เมตร) สร้างก่ออิฐสอดินฉาบผิวด้วยปูนขาว คงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐานที่สร้างยกพื้นสูง บันไดทางขึ้นปรากฏทางด้านหน้า เดิมเป็นวิหารแบบโถง (ไม่มีผนัง) หลังคาทรงหน้าจั่ว โครงสร้างเสาประกอบด้วยเสากลมก่ออิฐทรงโค้งของคู่กลาง ที่ใช้รองรับเครื่องหลังคาในส่วนแนวใต้จั่ว และเสาคู่ริมที่รองรับเครื่องหลังคาในส่วนปีกนก ส่วนแท่นฐานชุกชีพระประธานลักษณะย่อเก็จออกมาทางด้านหน้า ตั้งอยู่ด้านหลังตอนบนทับซ้อนกับส่วนฐานลานปทักษิณของเจดีย์ประธาน มีบันไดทางขึ้น/ลงหลักทางด้านหน้าตอนกลางที่มีตัวบันได 2 ข้างชำรุด และบันไดขึ้นทางด้านข้างในส่วนย่อเก็จตอนหน้า พระเจดีย์ประธาน เป็นทรงระฆังกลมแบบมาตรฐานล้านนาแท้ ตั้งอยู่บนฐานลานปทักษิณสูง ที่มีบันไดทางขึ้น/ลงทางด้านหน้ามุมทิศตะวันออก-ตะวันตก (เฉียงเหนือ) 2 แห่ง และปรากฏร่องรอยแท่นฐานศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปตอนบน 3 ด้าน ยกเว้นส่วนที่เป็นด้านหลังพระวิหาร องค์พระเจดีย์ในส่วนของฐานล่างเป็นแบบเขียงสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ชั้นหน้ากระดาน 8 เหลี่ยม รองรับส่วนฐานปัทม์ย่อเก็จ 2 ตอน ที่ท้องไม้ประดับชั้นบัวคว่ำ (ตอนล่าง) และบัวหงาย (ตอนบน) ส่วนองค์ระฆังตั้งอยู่บนชั้นมาลัยเถากลม แบบชั้นฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่คู่ บัลลังก์เป็นแบบแท่นฐานปัทม์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ปัจจุบันส่วนของก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลียอด พังทลายลงมาไม่เหลือหลักฐาน

ที่มา https://culture.mome.co/watekhang/

กิจกรรมในเชียงใหม่