วัดดับภัย

ประวัติความเป็นมา วัดดับภัย

วัดดับภัยเดิมชื่อว่า วัดตุงกระด้าง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ตามตำนานเล่าว่า มีขุนนางคนหนึ่งชื่อว่า พระยาอภัย เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระเจ้าดับภัย เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำครอบครัว ประดิษฐานเอาไว้ในห้องนอนของตน ไม่ว่าจะไปที่ใดก็จะนำพระเจ้าดับภัยไปด้วยเสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง และบริวาร

เมื่อพระยาอภัยล้มป่วยลง ไม่มีหมอคนไหนรักษาได้ ท่านอธิษฐานขอพรต่อพระเจ้าดับภัยให้ตนหาย ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเจ้าดับภัย อาการป่วยของท่านค่อยๆ ทุเลาลง จนหายขาดในที่สุด พระยาอภัยย้ายมาปลูกเรือนใกล้กับวัดตุงกระด้าง พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้มีสภาพที่ดีขึ้น แล้วอัญเชิญพระเจ้าดับภัยมาประดิษฐานที่วัดตุงกระด้าง พระอารามแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดดับภัย จนถึงทุกวันนี้

ลักษณะความสำคัญ/จุดเด่น วัดดับภัย

พระวิหาร พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และกระจกสีสันต่างๆ ซุ้มโขงประตูวิหารเป็นลายปูนปั้นสัตว์นานาชนิด ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมรูปพระพุทธเจ้า เทวดา และนางอัปสรโปรยดอกไม้

พระเจดีย์ ตั้งอยู่หลังพระวิหาร ศิลปะล้านนา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปจากนี้บุหุ้มด้วยทองจังโก องค์ระฆังทรงกลมสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๗ ชั้น

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังพระเจดีย์ สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและดอกบัวบนกระจกสีฟ้า ทางเข้าเป็นซุ้มโขง ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมรูปเทวดาและนางอัปสร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย จีวรริ้ว ส่วนที่ผนังมีจิตกรรมพุทธประวัติ

ที่มา https://templeofchiangmai.weebly.com

กิจกรรมในเชียงใหม่