จิบอังตึ้งโอสถ

ร้านจิ๊บอังตึ้งโอสถ เป็นอาคารตึกสองชั้นรุ่นเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒

“จิ๊บ” หมายถึง ส่วนรวม “อัง” หมายถึง ความสงบสุข และ “ตึ้ง” หมายถึง ศาลาที่พัก

ร้านจิ๊บอังตึ้งโอสถ เริ่มต้นจากนายมั่งฮุ้ง  แซ่ลี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มั่น อัครชิโนเรศ อพยพมาจากประเทศจีนและมาอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาอพยพมาอยู่กับญาติที่เมืองเชียงใหม่ขณะอายุประมาณ ๒๐ ปีเศษ เริ่มมาเช่าห้องแถวอยู่ถนนช้างม่อยใกล้ตลาดนวรัฐ ประกอบอาชีพขายผ้า

ต่อมาแต่งงานกับนางไซหง  แซ่ลั้ง(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจินดา) เดิมเช่าเปิดร้านอยู่บริเวณร้านสุจริตพานิช ถนนช้างม่อย ต่อมาย้ายมาเช่าฝั่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นอาคารของขุนสมานเวชชกิจและเริ่มขายยาจีน ซึ่งคาดว่ามีความรู้มาจากเมืองจีน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒(หลัง พ.ศ.๒๔๘๘) นายมั่งฮุ้งมาซื้อห้องแถวชั้นเดียว ๔ ห้องถัดจากที่เช่าเดิมไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเถ้าแก่โอ๊ว และสร้างตึกเป็นร้านค้า ช่างก่อสร้าง ชื่อ ช่างตินเป็นชาวเวียดนามที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ ช่างก่อสร้างเป็นช่างเวียดนามทั้งสิ้น มีฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น

นอกจากนายมั่งฮุ้ง  แซ่ลี้ จะขายยาจีนแล้ว ยังประกอบกิจการอื่นอีกหลายอย่าง คือ หุ้นกับเพื่อนค้าลำไย , หุ้นทำร้านดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ชื่อร้านไทยสงวน ขายเครื่องกระป๋องเป็นหลัก , ประมูลทำกิจการโรงฝิ่นหลายแห่งในภาคเหนือ , ทำโรงเหล้าที่อำเภอฝาง อำเภอพร้าว ภายหลังหุ้นทำแร่วูลแฟลมที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ผู้ที่ดูแลกิจร้านในปัจจุบัน คือ คุณพรเพ็ญ อัครชิโนเรศ  เล่าว่า เกิดปี พ.ศ.๒๔๘๙  เมื่อเกิดก็มีตึกนี้แล้ว วัยเด็กไปเรียนที่เมืองจีน กลับมาเมื่ออายุ ๒๐ ปี เศษ พ่อนายหมั่งฮุ้ง แซ่ลี่ แม่นางไซหง แซ่อั๊ง พ่อแม่มาจากประเทศจีน มาอยู่ตลาดวโรรส พ่อมีความรู้เรื่องยา เป็นเภสัชแผนโบราณ ซื้อที่นี่แล้วสร้างใหม่ พ่อเสียชีวิตเมื่อ ๓๐ ปีแล้ว หลังจากนั้นพี่ชายคนโตคือ นายเกรียง  อัครชิโนเรศ รับผิดชอบกิจการของร้านต่อมา การขายยาคุณพรเพ็ญบอกว่าเป็นงานที่จุกจิก ต้องเฝ้าวันค่ำ เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบงานแบบนี่เพราะไม่มีวันหยุด สมัยก่อนนั้นหยุดวันตรุษจีนวันเดียว ปัจจุบันทางร้านหยุดทุกวันอาทิตย์

http://www.thainews70.com

เทรนด์
มีนาคม 2024

กิจกรรมในเชียงใหม่