หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(หอศิลป์ปิ่นมาลา)
- ถนนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50200
- 0-5394-3967
-
- จันทร์-ศุกร์ 09:00-17:00
- http://library.cmu.ac.th/pinmala/index.php
- #หอศิลป์ #หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-
ตำแหน่งจีพีเอส : 18.8021880, 98.9515250 (เปิดแผนที่บน Google Map) | เปิดพิกัดปัจจุบัน
ปีพุทธศักราช 2532 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยจัดสร้างหอศิลป์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่คณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จึงได้มอบเงินจำนวน 850,000 บาท เป็นทุนในการดำเนินงาน มหาวิทยาลัยจึงได้ปรับปรุงอาคารสโมสรนักศึกษาเดิมให้เป็นหอศิลป์และให้ชื่อว่า หอศิลป์ปิ่นมาลา และมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดหอศิลป์ปิ่นมาลา ในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เวลา 9.00 น.
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2545 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงหอศิลป์ปิ่นมาลาให้เป็นหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา) โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งดังนี้
1. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล อนุรักษ์และจัดเก็บข้อมูลรูปภาพ สิ่งของทุกประเภทเกี่ยวกับประวัติและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. เพื่อจัดแสดงนิทรรศการถาวร และนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่การรณรงค์ก่อตั้งมหาวิทยาลัยตลอดจนพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ด้านต่างๆของมหาวิทยาลัย
3. เพื่อให้บริการเพื่อการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย
ในการจัดทำหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นได้กำหนดให้มีบริเวณหนึ่งจัดทำเป็นหอเกียรติคุณ (Hall of Fame) สำหรับบุคคลที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคคลท่านแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกาศยกย่องให้ปรากฏในหอเกียรติคุณ คือ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทำปฏิมากรรมรูปเหมือน ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เทคนิคบรอนซ์ ขนาดสูง 65 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณที่มหาวิทยาลัยมีต่อ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผู้มีพระคุณสืบไป